วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภาครัฐประหาร
ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้น ทั้งที่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ พี่น้องคนไทยเข่นฆ่ากันเอง และแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในทางที่ดี
มีคนกล่าวไว้ว่า ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากผู้กระทำเป็นผู้ชนะ เราก็จะเรียกว่า การรัฐประหาร แต่ถ้าแพ้ ก็จะถูกตราหน้าว่ากบฏ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การรัฐประหาร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงอำนาจ หาใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ เพราะการปฏิวัติ หรือการผลัดแผ่นดินของประเทศไทย เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยได้เพียงปีเดียว ปีต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2476 คณะราษฎรที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย นับเป็นการกระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลและยึดอำนาจภายในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันเอง
ต่อมาคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
วันที่ 6 เมษายน 2491 คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป และนำมาสู่ "กบฏเสนาธิการ" 1 ตุลาคม 2491 ซึ่งพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจับกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ
ในวันที่ 29 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้
ในยุคที่โลกตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น และประเทศไทยเป็นยุคของอัศวินตำรวจ รัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการกระทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นับเป็นรัฐบาลทหารที่ประกาศเดินหน้าดำเนินโยบายทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ ด้วยการรื้อฟื้นกฎหมายคอมมิวนิสต์ 2495 และกวาดจับผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในนาม "กบฏสันติภาพ" ในปี พ.ศ.2497
17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการรัฐประหารตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาพลเรือเอกสงัดก็ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520
รัฐประหารชั่วโมงเดียวของ รสช.
การรัฐประหารที่อยู่ในความทรงจำอันแจ่มชัดของคนไทยที่สุด เห็นจะเป็นการรัฐประหารของคณะรสช. หรือคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เพราะผลพวงที่ติดตามมาจากการรัฐประหารครานั้นได้กลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ทางการเมืองไทยโดยไม่มีใครคาดคิด
ภายหลังจากที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศจะนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบกและรองนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง นับเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจต่อทั้งกลุ่มนายทหารและนักการเมืองหลายฝ่าย
โดยกำหนดการเข้าเฝ้าคือเวลา 13.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ในคืนวันที่ 22 ก.พ. เวลาประมาณเที่ยงคืน ได้มีรายงานจากวิทยุข่ายสามยอดของกองปราบปรามรายงานว่า ‘ป.1’ อันหมายถึง พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบได้เดินทางถึงหน่วยคอมมานโด ที่ซอยโชคชัย ลาดพร้าว และสั่งให้กองปราบเตรียมพร้อม เพราะมีข่าวว่าอาจมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ทว่าภายหลังได้มีการแจ้งยกเลิกการเตรียมดังกล่าว เพราะตรวจสอบไม่พบความเคลื่อนไหวของหน่วยกำลังใดในคืนนั้น
และยังมีรายงานด้วยว่าในคืนดังกล่าวพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้ไปรับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ห้องใกล้เคียงกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่ง ไปรับประทานอยู่ด้วยเช่นกัน โดยภายหลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ใช้เวลาตัดสินใจเพียงแค่ชั่วโมงเดียว!
จากบทความ 1 ปี รสช. โดยวุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือบินหลา สันกาลาคีรี อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายงานว่า เดิมทีทหารเตรียมการจะจับตัว พล.อ.ชาติชาย และพล.อ.อาทิตย์ ที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) ในเวลา 19.30 น. ภายหลังจากการเข้าเฝ้า พร้อมกับการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ แต่แผนกลับเปลี่ยนแปลงในเช้าวันนั้น
นายทหารที่ร่วมปฏิบัติการอันเป็นแผนที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปตลอดกาล ในเวลา 11 นาฬิกาของเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น ส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ เมื่อ พล.อ.ชาติชาย และพล.อ.อาทิตย์ เดินทางถึงห้องรับรองพร้อมหน่วยรักษาความปลอดภัยประมาณ 20 นาย ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินซี 130 ที่จอดพร้อมอยู่แล้ว ทั้งสองได้ถูกแยกไปนั่งบริเวณที่นั่งวีไอพี ส่วนหน่วย รปภ.ถูกแยกไปอยู่ตอนท้ายเครื่อง
ทันทีที่เครื่องบินซี 130 เคลื่อนตัว ทหารสองนายในชุดซาฟารีสีน้ำตาลก็กระชากปืนพกจากเอว ควบคุม รปภ.ทั้ง 20 คนเอาไว้ เครื่องบินลดความเร็วลง พล.อ.ชาติชายถูกควบคุมตัว การปฏิบัติการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การปฏิวัติสำเร็จแล้ว !
จากนั้น ทหารบกจำนวน 2 กองทัพได้เคลื่อนออกประจำจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ พล.อ.เกษตร โรจนนิล ออกจากกองทัพอากาศ สมทบกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกแถลงการณ์กับประชาชน โดยให้เหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนั้นว่า เนื่องจากพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงของคณะผู้บริหารประเทศ ที่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง อีกทั้งข้าราชการการเมืองบางคนยังได้ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง ประการต่อมาคือรัฐบาลกระทำตัวเป็นเผด็จการรัฐสภา ทำลายสถาบันทางทหาร ซึ่งนับเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง และประการสุดท้ายที่ค่อนข้างจะเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงนั้น คือ การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ !
เหตุดังกล่าวเนื่องมาจาก เมื่อปี 2525 พล.ต.มนูญ รูปขจร และพรรคพวก ได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่รูปแบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ แต่ไม่สำเร็จและถูกจับกุมในที่สุด แต่กลับได้รับการช่วยเหลือจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อความไม่สงบได้อีกถึง 3 ครั้ง ครั้งที่นับเป็นการกบฏคือ กบฏทหารนอกราชการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528
ซึ่งภายหลังจากการออกแถลงการณ์ดังกล่าว รสช. ก็เดินหน้ายึดทรัพย์นักการเมือง ทว่ารัฐบาลที่มีอายุเพียง 1 ปีของ รสช. ก็ต้องประสบกับอุปสรรคในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีการให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหารับใช้การสืบทอดอำนาจของรัฐบาล รสช. อันนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่กลายเป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเวลาต่อมา
รัฐประหารที่เกิดขึ้นสดร้อนๆ บรรยากาศแห่งความอึมครึมเกิดขึ้นตลอดทั้งวันอังคารที่ 19 กันยายน และนับเป็นการปฏิวัติที่แปลกที่สุดในโลกเมื่อประชาชนพากันโทรศัพท์แจ้งข่าวกันตลอดทั้งวันว่า ทหารจะปฏิวัติ แต่สถานการณ์ก็ยังสับสนว่า ฝ่ายไหนจะเป็นผู้กระทำ จนกระทั่งเวลา 22.15 น. กลายเป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐประหารตัวเอง มีคำสั่งปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกออกจากตำแหน่ง พร้อมกับมีคำสั่งให้มารายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยได้แต่งตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เวลา 22.30 น. ทหารจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยรถถังประมาณ 10 คัน และรถฮัมวี่ 6 คัน กระจายกำลังเข้าควบคุมตามจุดต่างๆและให้ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชนออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยทหารทั้งหมดมีสัญญลักษณ์ปลอกแขนสีเหลือง
จนกระทั่งเวลา 23.00 น.คณะนายทหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้พล.ต.ประพาส ศกุนตนาถ ออกมาอ่านคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 1 ว่า ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้ได้หมดแล้ว และไม่ได้มีการขัดขวางจากฝ่ายทหารที่สนับสนุนพ.ต.อ.ทักษิณจึงขอประชาชนให้ความร่วมมือ และนับเป็นประกาศคณะปฏิวัติที่สุภาพที่สุดด้วย เมื่อมีท้ายแถลงการณ์ด้วยว่า "ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย"
จากนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ประกาศกฎอัยการศึกและยกเลิกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ทั้งนี้มีรายงานว่า หลังจากที่ประชาชนทราบเหตุการณ์ว่า ทหารได้ทำรัฐประหารซ้อนยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณเรียบร้อยแล้ว ประชาชนจำนวนมากได้ออกจากบ้านมาแสดงความยินดี เช่นเดียวกับประชาชนที่ใช้รถสัญจรผ่านไปมาตามเส้นทางที่มีรถถังตั้งอยู่ได้ลงจากรถมาโบกมือ ไชโยโห่ร้องให้กับทหาร พร้อมทั้งขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นจะนิยมการถ่ายรูปคู่กับทหารเป็นอย่างมาก ส่วนสถานการณ์ใกล้กับบ้านจันทร์ส่องหล้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนั้น ทั้งบริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 และ 71 และรวมไปทั้งซอยจรัสลาภ ถนนสิรินธร มีทหารจาก ร.1 พัน 1 รอ.ประมาณ 30 นาย สวมชุดพรางอาวุธครบมือ พร้อมรถยีเอ็มซีจอดอยู่ ได้ตั้งจุดตรวจโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมตรวจด้วยอีกซอยละ 2 นาย พร้อมกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปด้านใน
จากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ออกมาแถลงการณ์ออกมาเป็นระยะๆ ถึงความจำเป็นในการเข้ายึดอำนาจเนื่องจากรัฐบาลทักษิณได้สร้างความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง มีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ประกาศจะให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมเรียกร้องให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ ร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายังสำนักงานเลขานุการกองทัพบก
colskys@hotmail.com
ป้ายกำกับ:
การเมือง