วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ. 2443-2526


ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ. 2443-2526

1. ชาติภูมิ


นายปรีดี เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านริมคลองเมืองฝั่งเหนือตำบลท่าวาสุกรี ตรงข้างกับวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า (อำเภอพระนครศรีอยุธยา)จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นลูกคนที่สองของนายเสียง และนางลูกจันทน์ มีอาชีพชาวนา พี่น้องทั้งหมดมีอยู่ 8 คน เป็นชาย 4 คน เป็นหญิง 4 คน

นามสกุล “พนมยงค์” นั้น ท่านเจ้าคุณวิมลมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่าขณะนั้นเป็นผู้ตั้งให้ ตามคำขอร้องของนายเสียงผู้เป็นบิดา โดยใช้ชื่อวัด “พนมยงค์” มาเป็นนามสกุล

2. การศึกษา


นายปรีดี เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกเมื่ออายุ 5 ขวบ ที่โรงเรียนบ้านครูแสง ซึ่งเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ ต่อมาได้ไปอยู่กับยายที่อำเภอท่าเรือ แล้วไปเรียนที่บ้านหลวงปราณีประชาชน จากนั้นย้ายไปเรียนที่วัดรวกจนจบมัธยมปีที่ 2 ขณะนั้นมีอายุ 9 ขวบ (พ.ศ. 2452) ซึ่งนับว่าเป็นเด็กที่เรียนดีมากคนหนึ่ง

เนื่องจากโรงเรียนวัดรวกล้มเลิกไปเพราะครูที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเกิดตายลงเด็กชายปรีดีจึงกลับมาอยู่บ้านเดิมที่อำเภอกรุงเก่า และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดศาลาปูนจนจบมัธยมปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2453 อายุตอนนั้น 10 ขวบ บิดามารดาได้ส่งให้เข้ามาเรียนที่กรุงเทพเมื่อปี พ.ศ. 2454 โดยอาศัยอยู่กับท่านมหาบางที่วัดเบญจมบพิตรจนกระทั่งจบชั้นมัธยมเตรียม ขณะนั้นที่วัดเสนาสนราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมตัวอย่างขึ้นเด็กชายปรีดีจึงกลับไปเรียนต่อที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยม 6 เมื่อปี พ.ศ. 2457 อายุได้ 14 ปี

หลังจากนั้น บิดามารดาได้นำเข้ามากรุงเทพอีกครั้งหนึ่งเพื่อศึกษาเล่าเรียนในชั้นสูงต่อไป โดยได้พักอยู่กับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายแม่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเสาชิงช้า และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เรียนอยู่ได้ 6 เดือนก็ลาออกไปทำนากับบิดาที่อยุธยาด้วยเหตุผลว่าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนรัฐประศาสนศาสตร์

เมื่อต้นปีพ.ศ. 2460 ขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี นายปรีดีจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ใช้เวลาเรียนกฎหมาย 2 ปีเศษ ก็สอบไล่ได้เนติบัณฑิตชั้นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2462 มีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น แต่ก็ต้องรอให้อายุครบ 20 ปีบบริบูรณ์ในปี 2463 ก่อนจึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห้งเนติบัณฑิตยสภา แต่ก็นับว่านายปรีดีเป็นเนติบัณฑิตที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในขณะนั้น

เมื่อจบกฎหมายใหม่ๆ นายปรีดี ได้ขออนุญาตเป็นทนายความได้ว่าความคดีเรือสำเภา ของนายลิ่มซุ่นหง่วน ซื่งเป็นคดีที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นอย่างมากต่อมาได้เข้ารับราชการในกรมราชทัณฑ์ กระทรวงนครบาล ในตำแหน่งเสมียนโทจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2463 คัดเลือกได้ทุนนักเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อนายปรีดี ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ในชั้นต้นได้ศึกษาภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน ใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย เมืองกอง (caen) ใช้เวลาเรียนที่นั่น 3 ปี และสอบได้ปริญญาตรีทางนิติศาตร์(Licencié en droit) ตามลำดับ หลังจากนั้นได้ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยในปารีสในระดับปริญญาโทและเอก

นายปรีดีจบการศึกษาในระดับปริญญาโททั้งทางด้านกฎหมายแท้และเศรษฐศาสตร์และได้ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก หรือที่เรียกว่า Docteur en droit (Sciences Juridiques) เรื่อง Du Sort des sociétés de persones en cas de décés d’un associé (Etude de droit français et de droit compare) แปลเป็นไทยว่า “ในกรณีที่หุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตายฐานะของหุ้นส่วนส่วนบุคคลจะเป็นอย่างไร (ศึกษาตามกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ)” สอบได้เกียรตินิยมดีมาก (trés bien) จัดได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่สอบได้ปริญญาเอกของรัฐ (Docteur d’ Etat) ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปจะได้ดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัย (Docteur de ľUniversité) นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (Diplŏme d’ Etude Superéures d’ Economie Politique)

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้นกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยภาคพื้นยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) ขึ้นโดยชื่อว่า สามัคยานุเคราะห์สมาคม (มีอักษรย่อว่า ส.ยา.ม อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า SIAM ) ส่วนชื่อเต็มในภาษาฝรั่งเศสคือ Association Siamoise d’ intellectualité et d’assistance mutuelle นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ใน พ.ศ. 2468 สมาคมนี้กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของการรวบรวมแนวคิดของผู้นำรุ่นใหม่อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ก่อการ 2475 ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเลขที่ 9 Rue du Sommerard ณ กรุงปารีส

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้เดินทางกลับสยาม และถึงกรุงเทพในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2470

3. ชีวิตการทำงาน

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพ นายปรีดีได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาชั้น 6 กระทรวงได้ทำการฝึกหัดเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และต่อมาเมื่อได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2470
ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 และได้รับการเลื่อนยศเป็นอำมาตย์ตรีในปีต่อมา
ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้ นายปรีดีได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย”หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาส์นซึ่งเป็นโรงพิมพ์ส่วนตัวของท่านเอง
นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย โดยเริ่มสอนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470 ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลอีกด้วย ลูกศิษย์ของท่านในช่วงดังกล่าวนี้ได้แก่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายจิตติ ติงศภัทิย์ นายดิเรก ชัยนาม นายเสริม วินิจฉัยกุล นายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ นายไพโรจน์ ชัยนาม นายจินดา ชัยรัตน์ นายโชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และนายศิริ สันตะบุตร
ในพ.ศ. 2474 โรงเรียนกฎหมายได้เปลี่ยนหลักสูตรการสอน มีการเพิ่มเติมวิชาใหม่ๆเข้าไปในหลักสูตร เช่น วิชากฎหมายปกครองซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก และนายปรีดีเป็นผู้บรรยายวิชาดังกล่าว ลูกศิษย์ของท่านในช่วงนี้ได้แก่ นายทองเปลว ชลภูมิ นายยวด เลิศฤทธิ์ นายประยูร กาญจนดุล นายชัย เรืองศิลป์ นายฟอง สิทธิธรรม นายมาลัย หุวะนันท์ เป็นต้น
กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากทั้งนี้เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการสอนวิชาดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมืองอยุ่ไม่น้อย เมื่อคำนึงถึงว่าในขณะนั้นประเทศไทยยังปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์
จากการสัมภาษณ์นักเรียนกฎหมายในช่วงนั้น ได้รับคำบอกเล่าว่าอาจารย์ปรีดีได้อนุญาตให้นักเรียนเข้าพบเพื่อปรึกษาปัญหาการเรียนที่บ้านป้อมเพชร์อันเป็นบ้านพักของท่าน ถนนสีลม ได้ซึ่งทำให้มีลูกศิษย์ไปพบปะที่บ้านอยู่เนืองๆจึงทำให้อาจารย์คุ้นเคยและมีความสัมพันธ์กับนักเรียนกฎหมายอย่างดี

4. นายปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง


ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรได้ตระหนักถึงความจำเป็นในอันที่จะปูพื้นฐานความคิดทางการเมืองให้สิทธิและโอกาสกับประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับการศึกษา
นายปรีดีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองพุทธศักราช 2476 ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 ก.พ. 2476 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวดังปรากฎใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมสาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ว่า

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดการบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นเป็นพิเศษ

 เมื่อพิจารณาถึงคำกราบบังคมทูลของนายปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยต่อสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ก็จะเห็นได้ชัดถึงจุดมุ่งหมายของการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ว่า
 
การตั้งสถานศึกษา ตามลักษณะของมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำตลอดถึงการศึกษาชั้นสูงเพราะฉะนั้นในการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำเป็นต้องมีสถานการศึกษาในครบบริบูรณ์ทุกชั้น มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่ควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น
 
นายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยจัดหาบุคลากรสถานที่ ผู้บรรยาย เป็นผู้ให้ความคิดเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
 
หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะเริ่มแรกเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องด้วยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่สำคัญๆคือกฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต ซึ่งจะแบ่งการสอนในมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 ระดับ คือปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึงการศึกษาในระดับเตรียมปริญญา ที่เรียกว่าเตรียม ม.ธ.ก. รวมทั้งจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร คือหลักสูตรการศึกษาวิชาการบัญชี
 
เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นนั้น ท่านไม่ได้ทำหน้าที่ผู้บรรยายวิชากฎหมาย แต่ได้ทำหน้าที่ทางด้านบริหารมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประศาสน์การมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2495 ตำแหน่งนี้ได้ถูกยกเลิกโดยคำเสนอแนะของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม และได้มีตำแหน่งอธิการบดีแทนซึ่งจอมพลป. เป็นอธิการบดีคนแรก ตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ประศาสน์การท่านดำรงตำแหน่งอุปนายกของ “คณะกรรมการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”ซึ่งกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่พิจารณานโยบายของมหาวิทยาลัยรวมถึงกำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆการผลิตตำรา ฯลฯ ดังนั้นท่านจึงมีความใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก
 
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนจำนวนมากที่สุดได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้ ดังปรากฎว่าในปีแรกที่มีการเปิดสอนมีผู้มาสมัครเข้าเป็นนักศึกษาเป็นจำนวนถึง 7,094 คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ การที่มีคนจำนวนมากสนใจสมัครเรียนเป็นผลสืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้สิทธิข้าราชการเข้าเรียนได้ในฐานะตลาดวิชาอีกทั้งเนื่องจากค่าเล่าเรียนต่ำมากเพียงปีละ 20 บาท(ซึ่งในขณะนั้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บปีละ 80 บาท)
 
5. ชีวิตทางการเมือง
 
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นายปรีดีเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนร่วมกับคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนมูลฐานระบอบการปกครอง นายปรีดีเป็นผู้ร่างแถลงการณ์ และร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 27มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นหนึ่งในเจ็ดคนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้แทนราษฎรชั่วคราวในจำนวน 70คน
 
การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญชุดแรก (28 มิ.ย. 2475 – 10 ธ.ค. 2475) ประกอบด้วยคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) 15 คนในจำนวนนี้นายปรีดีได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย
 
ท่านได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการราษฎรให้เป็นผู้ร่างหลักการเศรษฐกิจประจำชาติ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” และเสนอต่อคณะกรรมการราษฎรในวันที่ 12 มีนาคม 2475 (พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินใหม่) หลัการสำคัญของ “เค้าโครงเศรษฐกิจ”ได้แก่การที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษบกิจเสียเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้ราษฎรทุกคน (ยกเว้นในกรณีต่างๆ ที่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ.)เป็น “ข้าราชการ” หรือลูกจ้างของรัฐบาลให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ให้รัฐบาลเป็นผู้วางแผนการพัฒนาประเทศหลังจากที่ได้มีการเสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯได้ได้ทรงมีข้อวินิจฉัยว่า เป็นแนวคิดที่ลอกเลียนแบบ “บอลเชวิค” ของโซเวียต
 
ในที่สุดท่านจำต้องเดินทางออกไปประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งตามคำขอร้องของรัฐบาลใน วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2476 โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ตลอดระยะเวลาที่ออกไปนอกประเทศโดยให้ปีละ 1,000 ปอนด์
 
วันที่นายปรีดีออกเดินทางไปฝรั่งเศสนั้นมีคนผู้คนได้ไปส่งที่ท่าเรือ บีไอ.เป็นจำนวนมาก เช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี เช่น พระยาพหลฯ พระยามานวราช หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม
 
นายตั้ว ลพุกรม พ่อค้า ประชาชน ช้าราชการที่เคารพนับถือท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนาได้กอดจูบเป็นการอาลัยต่อหน้าประชาชนเป็นเวลานาน
 
หลังจากนั้นได้เกิดการรัฐประหารซึ่งนำโดย พ.อ.พระยาพหลฯนายปรีดีได้เดินทางกลับมาประเทศสยาม และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิสูจน์แนวคิดและการกระทำของท่านซึ่งคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ว่า “หลวงประดิษฐ์ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา”นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 29มีนาคม พ.ศ.2476 (2477 ตามปฏิทินใหม่) และเป็นติดต่อกัน 2 สมัย จนกระทั่งมีการปรับคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองของโลกกำลังเข้าสู่ภาวะตึงเครียดที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนี้นี่เองที่ท่านได้พยายามเจรจากับชาติมหาอำนาจตะวันตกเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ประเทศเสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนเป็นผลสำเร็จ (ซึ่งสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามทำกับประเทศต่างๆเหล่านี้ได้กระทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา)ในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 โดยมี พ.อ.หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 
ในช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2483 สถานการณ์ภายในประเทศมีความสับสนมาก เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนเดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงจากฝรั่งเศส นายปรีดีกลับมีนโยบายที่เรียกร้องให้มีการใช้สันติวิธีโดยการเจรจาทางการทูตแทนการทำสงคราม นักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. ในช่วงนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า อาจารย์ปรีดีไม่เห็นด้วยกับการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนมาซึ่งก็นับว่าท่านมีสายตาที่ยาวไกล
 
ในปลายปี พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นยาตราทัพผ่านไทยไปยังพม่าและสิงคโปร์ และรัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในต้นปี พ.ศ.2485 นโยบายเข้าร่วมสงครามดังกล่าวขัดแย้งกับแนวทางของนายปรีดีดังนั้นหลังจากประกาศสงครามเพียง 9 วัน ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งมีผลให้ท่านพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมือง
 
ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการๆนั้นนายปรีดีได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นภายในประเทศซึ่งภายหลังได้ร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยที่ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษโดยท่านได้ใช้รหัสว่า “รูธ” (Ruth)ในการติดต่อกับขบวนการเสรีไทยความสำคัญของขบวนการเสรีไทย อยู่ที่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยไม่ได้ถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทสมหาอำนาจไปได้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เพื่อเป็นการยกย่องและตอบแทนคุณความดีของนายปรีดีและได้รับพระราชทานตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ซึ่งเป็นตราสูงสุดที่บุคคลธรรมาดาได้รับเพียงไม่กี่ท่าน
 
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกโดยเฉพาะปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 คณะรัฐบาลชุดนี้จึงหมดวาระลง เนื่องจากมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายปรีดีก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่ยังไม่ทันจะมีประกาศแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ก็ได้เกิดกรณีสวรรคตขึ้น นายปรีดีจึงกราบบังคมทูลลาออก และได้รับแต่งตั้งให้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งในวันที่ 13 มิถุนายนปีเดียวกันและดำรงตำแหน่งอยู่เพียง 2 เดือนก็ลาออกอีกครั้งหนึ่ง
 
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เกิดการรัฐประหารโดยกลุ่มทหารบก ซึ่งนำโดย พท.ท. ผิน ชุณหะวัน และ พ.ท.หลวงกาจสงคราม นายปรีดีจึงลี้ภัยไปพำนักยังสิงคโปร์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกานายปรีดีลงเรือบรรทุกน้ำมันของบริษัทเชลล์ชื่อ เอ็ม วี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ด้วยความลำบากยิ่ง หลังจากนั้นได้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2491 แต่คณะรัฐมนตรีได้ถูกคณะรัฐประหารบีบบังคมให้ลาออกเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2491 ฉะนั้นพอถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดีจึงได้ลักลอบกลับเข้ามา ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มทหารเรือและผู้รักประชาธิปไตยต้องการที่จะยึดอำนาจคืนจากคณะรัฐประหาร 2490 หรือที่เรียกกันว่า “กบฎวังหลวง” ความพยายามครั้งนี้ล้มเหลว นายปรีดีเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์เพื่อจะไปสู่สหรัฐอเมริกา แต่โดยเหตุที่มีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือเดินทางท่านจึงต้องเดินทางไปยังประเทศจีนซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายใต้รัฐบาลก๊กมินตั๋งแทนต่อมา พ.ศ.2513 จึงได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมา
 
ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ต่างประเทศนี้ ท่านได้เขียนบทความและหนังสือต่างๆเสนอแง่คิด คำแนะนำทางการเมืองให้สังคมไทยอยู่ตลอดเวลาเช่น
 
  • ความเป็นเอกภาพกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ (2517)
  • นายปรีดีชี้แนวทางประชาธิปไตย (2517)
  • ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมูนิสต์จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่ (2518)
  • อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน (2518)
  • นอกจากนี้ยังได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเช่น
  • ความเป็นมาของชื่อประเทศสยามกับประเทศไทย (2517)
  • มหาราชและรัตนโกสินทร์ (2525)
  • 6.ชีวิตครอบครัว

     
    จากการที่มีชีวิตพัวพันกับปัญหาสำคัญๆของประเทศเสมอมาการดำเนินชีวิตในครอบครัวของท่านจึงได้รับผลกระทบจากการเมืองไปด้วย ครอบครัวของท่านมีบุตรชายคนแรก คือ ปาล พนมยงค์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเพียง 6 เดือนเท่านั้น และเมื่อท่านได้รับการขอร้องให้เดินทางออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศสด้วยกรณี “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ใน พ.ศ.2476 ท่านจึงต้องพลัดพรากจากครอบครัวเป็นครั้งแรกในขณะที่บุตรยังเล็กมาก
     
    ความกระทบกระเทือนที่ใหญ่หลวงมากสำหรับครอบครัวของท่านคือ กรณีรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ตัวท่าน ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่สิงคโปร์ส่วนครอบครัวของท่านนั้น ก็ได้รับการคุกคามจากคณะรัฐประหาร ท่านผู้หญิงพูนศุข และลูกๆต้องลี้ภัยไปอยู่สัตหีบชั่วคราวความยุ่งยากที่ตามมาก็คือท่านถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตซึ่งมีผลให้ถูกงดบำนาญนับตั้งแต่วันยื่นฟ้องคดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ที่สำคัญไปบ้านพักต้องถูกเอาไปให้เช่าเพื่อหารายได้มาจุนเจือแก่ครอบครัว ท่านผู้หญิงต้องกลับไปอยู่บ้านเดิมกับพ่อแม่ และหารายได้เพิ่มด้วยการทำขนมขาย
     
    ในปี พ.ศ. 2495 ท่านผู้หญิงและ ปาล พนมยงค์ ถูกจับในกรณีกบฎสันติภาพ ซึ่งการจับกุมครั้งนี้ได้มีผู้ถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมากเช่น นักศึกษาของมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ ปัญญาชน นักสันติภาพ เป็นต้น ท่านผู้หญิงคถูกคุมขังอยู่ 84 วัน แต่เนื่องด้วยกรม อัยการ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีหลักฐานพอที่จะฟ้องฐานกบฎ จึงได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่ ปาล พนมยงค์ถูกส่งฟ้องศาล และพิพากษาจำคุกในข้อหากบฎเป็นเวลา 20 ปี และได้รับการลดหย่อนโทษ เหลือ 13 ปี 4 เดือน แต่ก็ได้รับนิรโทษกรรมใน พ.ศ.2500 หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปีเศษ
     
    หลังจากที่ท่านผู้หญิงได้รับอิสรภาพจึงได้เดินทางไปสมทบกับนายปรีดีที่ประเทศจีนโดยนำบุตรเล็กๆไปด้วย
     
    นายปรีดีและครอบครัวพำนักอยู่ที่ประเทศจีนจนถึง พ.ศ. 2513 จึงได้อพยพไปอยู่ที่บ้านหลังเล็กเลขที่ 173 ถนน Aristide Briand ชานกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เวลาส่วนใหญ่ของท่านอุทิศให้กับการเขียนหนังสือ โดยเฉพาะการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมไทยเป็นครั้งคราว ท่านจะตอบรับเชิญจากคนไทยกลุ่มต่างๆในประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสดงปาฐากถาในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมไทยดังที่จะปรากฎในสิ่งตีพิมพ์ต่างๆในระยะเวลาต่อมา
    วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เวลาประมาณเที่ยงวันตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ท่านทำภารกิจประจำวันเช่นเคย ท่านก็ได้ถึงแก่อสัญญากรรม เนื่องจากหัวใจวาย ณ ที่บ้านพักของท่านนั่นเอง
     
     
    พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
    พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
    พ่อของข้าฯนามระบือชื่อ “ปรีดี”
    แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ