-->
โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง
อย่ากล่าวว่าฉันจะจากในวันพรุ่ง
แม้วันนี้ฉันก็ยังกำลังมาถึง
ดูให้ดี ทุกวินาทีฉันกำลังมาถึง
เป็นตุ่มตาแรกผลิของกิ่งไม้ยามวสันต์
เป็นนกน้อยปีกบาง
หัดขับขานอยู่ในรังใหม่
เป็นดักแด้อยู่กลางดวงดอกไม้
เป็นเพชรพลอยซ่อนอยู่ในเนื้อหิน
ฉันยังคงมาถึง เพื่อหัวเราะและร้องไห้
เพื่อกลัวและเพื่อหวัง
จังหวะหัวใจฉันคือกำเนิดและความตาย
ของสรรพชีวิต
ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูป
บนผิวน้ำ
และฉันคือนก
โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
ในบึงใส
และฉันคืองูเขียว
เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
และฉันคือพ่อค้าอาวุธ
ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ
ลี้ภัยในเรือน้อย
โถมร่างลงกลางสมุทร
หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
และฉันคือโจรสลัด
หัวใจฉันยังขาดความสามารถ
ในการเห็นและรัก
ฉันคือสมาชิกกรมการเมือง
ผู้กุมอำนาจล้นฟ้า
และฉันคือชายผู้ต้องจ่าย
“หนี้เลือด” แก่ประชาชน
ผู้ค่อยค่อยตายไปในค่ายแรงงาน
ปีติแห่งฉันดังวสันต์อันอบอุ่น บำรุงบุปผชาติแย้มบานไปทั่วโลก เจ็บร้าวแห่งฉันดั่งธารน้ำตา กว้างใหญ่เนืองนองสู่ท้องสมุทรทั้งสี่ โปรดเรียกันด้วยนามอันแท้จริง เพื่อฉันจักอาจยินเสียงสรวลและร่ำไห้ของตนได้พร้อมกัน เพื่อฉันจักอาจเห็นว่าปีติและเจ็บร้าวของตนนั้นคือหนึ่ง โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง เพื่อฉันจักอาจตื่นขึ้น และประตูหัวใจฉัน ประตูแห่งกรุณา จะได้เปิดV ถ้าเราเอาสาระจากบทกวีของท่านนัทฮันห์มาพิจารณา เราต้องเลิกคิดถึงผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่ เลิกคิดถึงคนดีกับคนชั่ว หากหันมามองในทางอิทัปปัจจยตาว่าเราล้วนโยงใยถึงกัน เราต่างก็เป็นมิตรสหายกัน ล้วนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เราจะให้อภัยกัน เมตตากรุณาต่อกันได้อย่างไร แม้กับคนที่ทารุณโหดร้ายกับเรา อนึ่ง การพัฒนาถ้ามุ่งไปในทางวัตถุ ให้ต้องมีทรัพย์ศฤงคารยิ่งๆขึ้น ให้มีอำนาจยิ่งๆขึ้น คนเล็กคนน้อยทุกหนแห่งย่อมเดือดร้อน แม้เขาจะอพยพโยกย้ายไปที่อื่น ก็ไปถูกเบียดเบียนบีฑาอยู่อีกนั่นเอง ชนชั้นปกครองในทุกประเทศก็จะสยบยอมแต่กับอภิมหาอำนาจ ซึ่งในบัดนี้มีทั้งจีนและสหรัฐ โดยที่คนเล็กคนน้อยในสองประเทศนั้นก็ถูกเอาเปรียบด้วยประการต่างๆอีกด้วย นอกจากสองจักรวรรดินี้แล้ว เรายังมีบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งโยงใยอยู่กับสองจักรวรรดิดังกล่าว โดยที่ทั้งหมดนี้สะกดให้ชนชั้นปกครองในแทบทุกประเทศสยบยอมอยู่กับเขาแทบทั้งนั้น เพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของคนพวกนั้น และเพื่อว่าเขาจะได้ความมั่นคงทางการเมืองอีกด้วย จะให้ชนชั้นนำในที่ไหนๆมาเอาใจใส่หรือหาดีกับคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขม และคนอพยพจากที่ต่างๆนั้น อย่าได้พึงหวัง เว้นเสียแต่ว่าเราจะเปลี่ยนความคิดไปจากการ พัฒนา มาเป็น ภาวนา คือ กายภาวนาควรมีร่างกายที่เหมาะสม ไม่กินมากเกินไปและไม่ออกกำลังกายมากเกินไป และจิตภาวนา คืออบรมจิตใจให้สงบ ให้รู้จักพอ ไม่อ้าขาผวาปีกไปเป็นคนรวย หรือคนมีอำนาจ หรือแสวงหาชื่อเสียงคำเยินยอซึ่งล้วนเป็นของปลอม โดยต้องใช้ศีลในทางภาวนาด้วย คือช่วยให้สังคมยุติธรรมอย่างสันติ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน อุดหนุนธรรมชาติให้แวดล้อมผู้คนอย่างเหมาะสม ไม่บ้าคลั่งกับวิทยาศาสตร์กระแสหลักหรือเทคโนโลยี่ล่าสุดว่าจะแก้ปัญหาอะไรๆก็ได้ โดยที่ต้องมีปัญญาภาวนา รู้จักแสวงหาศักยภาพของตัวเราให้พบ รู้จักใช้หัวใจให้ประสานกับหัวสมอง ให้แลเห็นอะไรไม่เป็นเสี่ยงๆ หากให้เห็นอะไรๆอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งโยงใยถึงกัน เพื่อลดความเห็นแก่ตัวของเราลง แลเห็นว่าคนอื่นและสรรพสัตว์สำคัญยิ่งกว่าเรา โดยมองไปพ้นชาตินิยม หากเห็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดเป็นเพื่อน เป็นญาติ แม้สัตว์และธรรมชาติก็เป็นญาติ ดังปู่ย่าตายายของเราเคารพแม่น้ำ แม่พระธรณี และแม่โพสพเป็นต้น หากมนุษย์เริ่มมีทัศนคติที่ถูกต้อง อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างลดอคติ หากลดความทะเยอทะยานในการแก่งแย่งแข่งดีลง เราจะรู้ตัวเราว่า เราทุกคนล้วนเป็นผู้อพยพด้วยกันทั้งนั้น เรากำลังจะอพยพจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ระหว่างที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็จงอย่าติดยึดในตัวตน ในสมบัติอัครฐานในที่อยู่อาศัย หากใช้ตัวตนและทรัพย์ศฤงคารตลอดจนความรู้ความสามารถ เพื่อคนอื่นสัตว์อื่น ซึ่งคงจะอพยพโยกย้ายไปจากโลกไล่ๆกับเราถ้วนทั่วทุกสรรพสัตว์ VI ข้าพเจ้าควรจบปาฐกถาลงได้แล้ว โดยไม่ได้เอ่ยถึงคดีชาวโรฮิงยาเลย เพราะเห็นว่าจะมีวีดีทัศน์และการอภิปรายในเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังคดี 54 ศพที่จังหวัดระนอง แต่ก็ควรเสนอทัศนะส่วนตัวให้ปรากฎ เผื่อจะมีการอภิปรายรายละเอียดกันต่อ กรณีของชาวโรฮิงยาที่อพยพหลบภัยไปยังถิ่นต่างๆนั้น น่าสมเพทเวทนา ยิ่งกว่ากรณี boat people ของเวียดนามเสียอีก เพราะอย่างน้อยชาวญวนยังมีพุทธศาสนิกชั้นนำอย่างพระอาจารย์นัทฮันห์ ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลในทางศาสนธรรม และโยงใยชาวพุทธจากทั่วโลกให้ตื่นขึ้น หันมาอุดหนุนคนทุกข์ยากเหล่านั้น แม้รัฐบาลส่วนใหญ่รวมถึงรัฐบาลของชาวพุทธอย่างไทย ก็ไม่ได้แสดงถึงมนุษยธรรมเอาเลย มิใยต้องเอ่ยถึงศาสนธรรม ในเรื่องนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังดีกว่ารัฐบาลไทยเสียอีก สำหรับชาวโรฮิงยานั้น แม้รัฐบาลบังคลาเทศ ซึ่งก็เป็นมุสลิมคล้ายๆกัน ทั้งยังมีเชื้อชาติเกือบจะว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ผลักไสไล่ส่ง เฉกเช่นประเทศอื่นๆด้วยเหมือนกัน นิมิตดีก็ตรงที่องค์กรความร่วมมือของอิสลาม OIC---Organization of Islamic Cooperation ได้พยายามปลุกมโนธรรมสำนึกให้ชาวโลกตระหนักถึงวิกฤตการณ์อันชาวโรฮิงยาประสบอยู่ ทั้งภายในดินแดนที่ตนมีชีวิตอยู่ต่อๆกันมาหลายชั่วคน รวมถึงผู้คนที่ต้องอพยพโยกย้ายไปจากบ้านเกิดเมืองนอน โดยที่คนโรฮิงยาส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพพม่า ทางยะไข่ ซึ่งเป็นต้นตอที่มาให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับราชาธิปไตยพม่า จนพม่าต้องเสียเอกราชให้อังกฤษไป ก็บัดนี้ ยะไข่เป็นของพม่าในทางนิตินัย แต่ชาวโรฮิงยาที่ยะไข่กลับถูกตราหน้าว่าเป็นราษฎรประเภทสอง นี่ก็แทบไม่ต่างไปจากชาวมลายูในสามสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย แม้ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม แต่ที่ถือพุทธก็มี โดยที่พุทธศาสนิกเหล่านี้ ก็ญาติดีกับเพื่อนร่วมเชื้อชาติและร่วมภาษา อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่กัน แต่แล้วชาวพุทธโรฮิงยาก็ถูกชาวพุทธพม่าตราหน้าว่าเป็นคนชายขอบ ถึงขนาดที่พวกชาวพุทธโรฮิงยาถูกฆ่าตายอย่างอเน็จอนาถ จากความผิดที่ขายอาหารให้ชาวโรฮิงยามุสลิม นี่ถ้าเหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 ของเราขยายตัวต่อไป คนที่เห็นใจนักศึกษาในธรรมศาสตร์ อาจโดนประชาทัณฑ์อย่างกว้างขวางออกไปก็ได้ ใครจะไปรู้ เมื่อใช้ลัทธิชาตินิยม ผนวกเอาลัทธิศาสนามารับใช้ลัทธิดังกล่าว แม้พุทธศาสนาก็มีอันตรายได้มิใช่น้อย ดังที่เห็นกันมาแล้วจากลังกา และพม่าในบัดนี้ ศาสตราจารย์ Ihsanoglu เลขาธิการองค์กรความร่วมมือของมุสลิม (OIC) ส่งจดหมายถึงนางอองซานสุจี วีรสตรีของพม่า ซึ่งเคยได้รับรางวัลสันติภาพจากมูลนิธิโนเบลมาแล้ว ขอให้เธอปลุกมโนธรรมสำนึกของชาวพุทธในประเทศของเธอ ให้มีเมตตากรุณาต่อชาวโรฮิงยา ซึ่งถูกเบียดเบียนบีฑาอย่างเลวร้ายยิ่ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากเธอ และเธอไม่เคยประกาศเจตนารมย์ของเธอออกไปดังๆเรื่องชาวโรฮิงยาเอาเลย ทั้งนี้เพราะเธอกลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว และเธอต้องการชนะเลือกตั้งคราวหน้า ซึ่งจะมีขึ้นภายในเวลาอีกไม่ช้าแล้ว เธอจะแสดง วาทะอะไรๆให้ขัดใจชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่ไม่ได้ นี้นับว่าน่าเสียใจ ดังศาสตราจารย์ Ihsanogluถึงกับประกาศว่า “อองซานสุจีสนใจเฉพาะสิทธิมนุษยชนของคนถือพุทธในพม่า เพราะผู้คนเหล่านั้นเป็นมนุษย์ โดยที่พวกมุสลิมไม่ใช่มนุษย์” นี่ออกจะเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงจนอาจเกินเลยไปก็ได้ คล้ายๆกับพวกมิชชันนารีฝรั่งที่เมื่อไปยึดดินแดนในโลกใหม่ได้แล้ว ฆ่าพวกคนพื้นเมืองลงเป็นเบือ เพราะพวกนั้นยังไม่ได้รับศีลล้างบาป จึงยังไม่ได้เป็นมนุษย์ นิตยสาร อิรวดี ของคนพม่าพลัดถิ่นที่ตีพิมพ์ในเมืองไทย อ้างคำของอองซานสุจีที่เธอกล่าวว่า คนพม่าต้องพึ่งตนเอง เพื่อให้ความฝันเป็นจริงในทางอิสรภาพและอนาคตอันสดใส เธอย้ำว่า “อย่าไปหวังให้ใครมาเป็นผู้กู้สภาพให้พม่า (savoir) โดยนิตยสารฉบับดังกล่าวประชดเธอว่า “สุจี พูดถูกแล้วที่พม่าไม่ต้องการให้ใครมาเป็นผู้อุ้มชู (savoir) แต่พม่าต้องการผู้นำ (leader) หมายความว่านิตยสารฉบับนั้นสงสัยในความเป็นผู้นำของเธอ แล้วเมืองไทยเล่า เรามีผู้นำไหม โดยไม่ต้องเอ่ยถึงยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณเอาเลยก็ว่าได้ แต่ทหารซึ่งเป็นรัฐภายในรัฐยังยึดเอาเผด็จการอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้นำอยู่ หรือตำราเรียนของเราก็ยกย่องเชิดชูอดีตกษัตริย์ อย่างพระนเรศวรมหาราชและพระปิยมหาราชว่าเป็นผู้นำ บุคคลดังกล่าวทำให้คนไปตายเท่าไรต่อเท่าไร แม้องค์แรกจะประกาศอิสรภาพได้จากพม่า และองค์หลังรักษาอิสรภาพไว้ได้ โดยยอมเสียดินแดนไปราวๆ 1 ใน 3 ของแผ่นดินทั้งหมด หากเราไม่เคยมองไปหาคนเล็กคนน้อยเอาเลยใช่ไหม ว่าเขาก็อาจเป็นผู้นำได้ดีกว่าชนชั้นสูง หรือคนที่นานาชาติยกย่องว่าเป็นผู้นำเสียด้วยซ้ำ และผู้นำที่แท้ต้องเน้นในทางสันติประชาธรรม ไม่ใช่เน้นทางทารุณกรรม หรือทางด้านการมอมเมาผู้คนให้เชื่อผู้นำ เพื่อชาติจะได้พ้นภัยใดๆก็ตาม ดังขอจบคำปราศรัยนี้ ด้วยอมตพจน์จากปราชญ์จีนคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า “ผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้ที่ประชาชนแค่รู้ว่ามีเขาอยู่ ที่ดีรองลงมาคือผู้ที่ประชาชนรักและสรรเสริญ รองลงมาอีกก็คือผู้ที่ประชาชนเกรงกลัว ที่แย่ที่สุดคือผู้ที่ประชาชนเกลียดชัง หากผู้นำไม่เชื่อใจผู้ใด แล้วจะมีใครเชื่อใจเขา ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้ที่ประหยัดถ้อยคำ เขาจะไม่พูดจาออกไปสุ่มสี่สุ่มห้า เขาจะทำงานโดยไม่ถือประโยชน์ส่วนตน และเมื่องานสัมฤทธิ์ผลผู้คนจะพูดพร้อมกันว่า “พวกเราสามารถทำงานสำเร็จได้ด้วยตัวเอง” (เต๋าเต้อจิง บทที่ 17 ผู้นำตามหลักแห่งเต๋า) -->
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บรรยาย โครงการเสวนากฎหมาย: “มองแนวทางปฏิบัติกรณีแรงงานข้ามชาติ 54 ศพ จังหวัดระนอง และกรณีโรฮิงยา ผ่านกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์” วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2556 สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน