วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โปรดเกล้าฯ ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี

โปรดเกล้าฯ ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี
-->
ในการประชุมซาวเสียงของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 30 มกราคม 2489 เพื่อเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 6 มกราคม 2489 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้นได้บันทึกไว้ดังนี้
ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมสมาชิกสภาเพื่อหารือเป็นการภายใน สอบถามความเห็นว่าผู้ใดสมควรจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกส่วนมากเห็นควรให้นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ จึงได้ไปแจ้งความเห็นของสมาชิกส่วนข้างมากให้นายปรีดี พนมยงค์ ทราบ แต่นายปรีดี พนมยงค์ ปฏิเสธ ไม่ขอรับตำแหน่ง โดยแจ้งว่ามีภารกิจต่าง ๆ อยู่มาก ดังนั้นประธานสภาฯ จึงได้หารือสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายปรีดี พนมยงค์ ปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่ง
ที่ประชุมจึงได้หารือต่อไป ในที่สุดเห็นควรให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ จึงนำความกราบบังคมทูลตามความเห็นของสมาชิก
นายควง อภัยวงศ์ จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ในตำแหน่งนั้นจนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2489 แล้วได้ลาออกไปเพราะแพ้มติของสภา (เรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนหรือตามภาษาชาวบ้านเรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค แต่พรรคประชาธิปัตย์เรียกว่าพระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียวในเชิงดูถูก เพราะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้เป็น ส.ส. ภาคอีสาน) สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 มีนาคม 2489 รายงานการประชุมสภาฯ ได้บันทึกไว้ดังนี้
วันที่ 19 มีนาคม 2489 ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมสมาชิกเป็นการภายใน เพื่อหารือว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี (นายควง อภัยวงศ์) กราบถวายบังคมลาออกแล้วเช่นนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปควรจะเป็นผู้ใด สมาชิกในที่ประชุมได้มีความเห็นว่าควรเป็นนายปรีดี พนมยงค์ มีสมาชิกบางท่านได้ให้ความเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่อาจรับตำแหน่ง เพราะแม้แต่ตำแหน่งสมาชิกประเภทที่ 2 ก็ยังแจ้งว่า ไม่สามารถมาประชุมได้สม่ำเสมอ ควรจะสอบถามผู้ถูกเสนอเสียก่อน ดังนั้นจึงพักการหารือไว้ชั่วระยะหนึ่ง เพื่อรอฟังการทาบทามตัว
ประธานสภาฯ จึงได้ไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้างวังหน้า ได้มีสมาชิกอีกหลายคนไปด้วย ประธานสภาได้แจ้งให้ทราบว่า ได้หารือกันระหว่างสมาชิกสภาฯ พิจารณาหาผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป สมาชิกส่วนมากเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ควรจะดำรงตำแหน่งนี้ จึงมาเรียนให้ทราบก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ในการนี้ได้มีสมาชิกที่ร่วมไปด้วยได้กล่าวขอร้องเป็นทำนองว่า ในภาวะคับขันและสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งจะต้องมีเจรจากับพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ อยู่ต่อไปด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรจะเป็นนายปรีดี พนมยงค์
ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงยอมรับตำแหน่ง ประธานสภาฯ จึงกลับมาแจ้งให้ที่ประชุมสมาชิกสภาฯ ทราบ
และท่านปรีดีก็ไม่ได้ทำให้สภาฯ ผิดหวัง ที่หวังให้ท่านเจรจากับพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาการให้ข้าวสารโดยไม่คิดมูลค่าแก่อังกฤษ 1 ล้าน 5 แสนตัน (คิดเป็นเงินตามราคาข้าวสารขณะนั้นประมาณ 2,500 ล้านบาท) ตามข้อเสนอของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต่อรัฐบาลอังกฤษ โดยอ้างว่าเพื่ออัธยาศัยไมตรี และต่อมาข้อเสนอให้ข้าวสารฟรีนี้ได้ถูกระบุไว้ในสัญญาสมบูรณ์แบบข้อที่ 14 ซึ่งรัฐบาลท่านปรีดีได้เจรจากับอังกฤษจากการให้ฟรีเป็นการขายดังปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม 2489 ดังนี้
…รัฐบาลมีเรื่องที่จะแจ้งให้สมาชิกทราบ 2 เรื่อง คือ เรื่องต้น เป็นเรื่องที่เมื่อวานนี้ ทางรัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับทางฝ่ายอังกฤษในเรื่องการที่แก้ไขสัญญาสมบูรณ์แบบ อันว่าด้วยการที่เราจะต้องส่งข้าวให้แก่อังกฤษเปล่า ๆ นั้น บัดนี้ได้ทำความตกลงกันว่า แทนที่ฝ่ายไทยจะส่งข้าวให้แก่อังกฤษเปล่า ๆ นั้น แต่นี้ต่อไปทางฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายที่จะได้มาซื้อข้าวไทยจากรัฐบาลไทย…
ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยามานวราชเสวี ได้กล่าวยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม 2489 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
…ข้าพเจ้าขอเป็นพยานในที่นี้ว่า ท่าน (ปรีดี-ผู้เขียน) ได้ดำรงตัวของท่านมาอยู่ในความสัตย์ ความจริง ในความบริสุทธิ์ สมควรที่เราจะเคารพนับถือ และแม้ในคราวสุดท้ายที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อไปหาท่านด้วยได้รับมอบหมายจากท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายนี้ ท่านยินดีรับทำให้ข้าพเจ้าผู้มีหน้าที่ในฐานะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหมดความห่วงใย และยังมีหวังว่าท่านจะแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ของการกระทำที่ได้เป็นมาแล้วให้ตลอดรอดฝั่ง และท่านก็แก้ไขสัญญาให้ข้าวเปล่าได้เป็นการซื้อขาย…
ท่านปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ตามวิถีทางประชาธิปไตย สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ยกเลิกสมาชิกประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง และให้มีสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง)
ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน 2489 สภาทั้งสองได้ประชุมร่วมกันเพื่อซาวเสียงเลือกหาตัวผู้จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากท่านปรีดีที่ลาออก ที่ประชุมร่วมกันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ให้ท่านปรีดีฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป
หลังจากที่รัฐสภา (ประกอบด้วยสภาทั้งสอง) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คณะประธานและรองประธานรัฐสภารวมทั้งเลขาธิการของทั้งสองสภาได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงมติของรัฐสภานั้น รายงานการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2489 ได้บันทึกไว้ดังนี้
ประธานรัฐสภา (นายวิลาศ โอสถานนท์) เรื่องนี้ (เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์-ผู้เขียน) ข้าพเจ้ายินดีจะชี้แจง ถ้าหากท่านต้องการทราบ เพราะว่าในการที่วันนั้น สภาได้ให้มติในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านยังคงจำได้ในการประชุมรัฐสภาวันแรก พวกเราได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 คนด้วยกัน คือ ตัวข้าพเจ้า รองประธานเดี๋ยวนี้ (นายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร-ผู้เขียน) และรองประธานอีก 2 สภา (นายไต๋ ปาณิกบุตร, นายมงคล รัตนวิจิตร, รองประธานพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ-ผู้เขียน) รวมทั้งเลขาธิการ 2 สภาด้วย (นายไพโรจน์ ชัยนาม, นายเจริญ ปัณทโร เลขาธิการพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ-ผู้เขียน) รวมเป็น 6 คนด้วยกัน การเข้าไปนั้นก็เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้ท่านทรงทราบว่า บัดนี้รัฐสภาได้มีมติในการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้รับสั่งว่า “อ้อ หลวงประดิษฐ์ดีมาก แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ?”
ก็ได้ทูลพระองค์ท่านว่า ตามระเบียบและตามประเพณีที่ปฏิบัติมา ก็น่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เชิญนายปรีดี พนมยงค์ มาสอบถามดูว่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ได้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ก็สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ท่านก็มิได้รับสั่งประการใด ได้แต่พยักพระพักตร์ซึ่งหมายความว่า ท่านจะได้เชิญนายปรีดี พนมยงค์ มา…
และในคืนวันที่ 7 มิถุนายนนั้นเอง เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ท่านปรีดีได้ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อทรงซักถามความสมัครใจที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านปรีดีเข้าเฝ้าอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ แล้วถวายบังคมทูลลากลับ
นายปรีดีได้พูดถึงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ในที่ประชุมรัฐสภาครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิถุนายน 2489 (ภายหลังสวรรคตสี่วัน) รายงานการประชุมรัฐสภาได้บันทึกไว้ดังนี้
…ข้าพเจ้ารู้ว่ามีพวกที่แกล้งท่านต่าง ๆ นานา โดยให้มหาชนเข้าใจผิด และสำหรับในหลวงพระองค์นี้ ทุกคนที่ใจเป็นธรรม ก็จะรู้ว่าข้าพเจ้าได้เสียสละและทำทุกอย่างที่จะโปรเต็คท์ราชบัลลังก์ให้แก่พระองค์ในยามคริติกอลโมเมนท์ตลอดมา ตลอดจนพระราชวงศ์ข้าพเจ้าก็ได้ทำมาเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าเคารพพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ว่าแต่ปากแล้วใจไม่เคารพ ข้าพเจ้าไม่ทำให้เด็ดซตรอยด์ ข้าพเจ้าไม่ทำ และไม่เป็นนิสัยของข้าพเจ้าที่จะทำเช่นนี้ เจ้านายฝ่ายในย่อมจะรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้นข่าวลือต่าง ๆ เป็นเรื่องที่จงใจจะปัดแข้งปัดขาต่างหาก ข้าพเจ้าได้ยินถึงกับว่า ข้าพเจ้าไปทำเพรสเซอร์พระมหากษัตริย์ ว่าข้าพเจ้าเฝ้าถึง 2 ยาม ที่จริงข้าพเจ้าเฝ้าท่านในวันศุกร์ที่ 7 ภายหลังที่สภาได้ฟังเสียง (มีมติให้ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี-ผู้เขียน) และวันอาทิตย์ก็มีการสะไตร้ค์ที่มักกะสัน ซึ่งเจ้ากรมท่านนัดข้าพเจ้าไปเฝ้า 2 ทุ่มครึ่ง ก่อนไปวังยังได้โทรศัพท์เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเชิญอธิบดีกรมรถไฟมาด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะอยู่อย่างช้าไม่ถึงชั่วโมง ข้าพเจ้าเฝ้าครึ่งชั่วโมงรับสั่งถึงเรื่องที่ท่านจะตั้งข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าอยู่ราวครึ่งชั่วโมงแล้วก็กราบทูลว่ามีเรื่องสะไตร้ค์เกิดขึ้น ข้าพเจ้านัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมรถไฟมาเพื่อจะต้องทราบรายละเอียด และถ้าอยากจะทราบรายละเอียดในการที่ว่าประธาน รองประธาน และเลขาธิการได้ไปเฝ้าท่านในการตั้งข้าพเจ้า ก็มีหลักฐานพยานอยู่เสร็จ ท่านรับสั่งอย่างไร (ดังที่ประธานรัฐสภากล่าวข้างต้น-ผู้เขียน)
มีข่าวลือ (ปล่อยข่าวลือ-ผู้เขียน) หลายอย่างในทางอกุศลทั้งสิ้น เอาไปลือเป็นทำนองที่ว่าท่านไม่พอพระทัยที่จะตั้งข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอะไรบ้าง ล้วนแล้วแต่ข่าวซึ่งเป็นอกุศลลอย ๆ ไม่มีเหตุผล นอกจากทำการปัดแข้งปัดขา ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ด้วยใจจริง ตั้งแต่ไหน ๆ ข้าพเจ้าได้ฝ่าอันตรายมาอย่างไร ทุกอย่างนี้ถ้าหากว่าใครไม่ลืมคงจะรู้ ตลอดเวลาที่เป็นผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อครั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทำอย่างไร เพราะฉะนั้นข่าวลืออะไรต่าง ๆ เป็นข่าวที่ปลุกปั่นทั้งสิ้น ขอให้ผู้ที่ใจเป็นธรรมระลึกถึงข้อนี้…
คำอ้างของท่านปรีดีในตอนต้นที่ว่า “เจ้านายฝ่ายในย่อมจะรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี” (เรื่องความจงรักภักดี-ผู้เขียน) ซึ่งเป็นการสอดรับกับคำของ ม.จ. อัปภัศราภา เทวกุล ผู้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ได้ประทานเล่าแก่นายสมภพ จันทรประภา ผู้เขียนพระประวัติของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เกี่ยวกับท่านปรีดีได้ถวายความปลอดภัยในระหว่างสงคราม มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
ที่อยุธยา ดร. ปรีดีและภรรยาได้เข้าเฝ้าแหนกราบทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิจ จนคนที่คลางแคลงอยู่บางคนชักจะไม่แน่ใจ เพราะกิริยาพาทีในเวลาเข้าเฝ้านั้นเรียบร้อยนัก นุ่มนวลนัก นัยน์ตาก็ไม่มีวี่แววอันควรจะระแวง…
เวลาเย็น ๆ ผู้สำเร็จราชการฯ ก็เชิญเสด็จประทับรถยนต์ประพาสรอบ ๆ เกาะ
“หลานฉันยังเด็ก ฝากด้วยนะ”
เป็นกระแสพระดำรัสครั้งหนึ่ง ผู้สำเร็จราชการฯ ก็กราบทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่คลางแคลงก็เริ่มไม่แน่ใจตนเอง
วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยา สมเด็จฯ ตรัสว่า
“ฉันจะไปปิดทอง”
ตรัสแล้วเสด็จไปทรงซื้อทองที่วางขายอยู่บริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงปิดไม่ถึง ผู้สำเร็จราชการจึงกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย”
สมเด็จฯ จึงประทานทองให้ไปพร้อมตรัสว่า
“เอาไปปิดเถอะ คนที่ทำบุญด้วยกันชาติหน้าก็เป็นญาติกัน”
เล่าลือกันว่า กระแสพระดำรัสนั้น ทำให้ผู้สำเร็จราชการฯ ซาบซึ้งมาก
ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พูดถึงเจ้านายฝ่ายในกับท่านปรีดีไว้ในบันทึกของท่านเรื่อง พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
การที่เสรีไทย โดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทยได้ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสา พระบรมอัยยิกาเจ้า ได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดีไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

เสด็จสวรรคต

หลังจากที่ท่านปรีดีเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทตามรับสั่งเมื่อคืนวันที่ 7 มิถุนายน 2489 แล้ว รุ่งขึ้นเช้าวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน ก็ได้ทรงพระกรุณาประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภาและนายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
แต่ยังไม่ทันที่ท่านปรีดีฯ จะได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เหตุการณ์อันเศร้าสลดอันยังความเศร้าโศกให้แก่คนไทยทั้งชาติก็เกิดขึ้นในตอนเช้าเวลาโดยประมาณ 09.25 นาฬิกา ของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เมื่อเยาวกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทั้งชาติ ถูกพระแสงปืนสวรรคตบนพระแท่นบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ท่านปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วนและได้เปิดประชุมเมื่อเวลา 21.10 นาฬิกาของวันที่ 9 มิถุนายนนั่นเอง มีสมาชิกพฤฒสภาเข้าร่วมประชุม 64 นาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 63 นาย รวมเป็น 127 นาย
ท่านปรีดีได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงเหตุการณ์สวรรคตที่เกิดขึ้น เมื่อรายงานจบแล้วสมาชิกแห่งรัฐสภาได้ลุกขึ้นยืนไว้อาลัยแด่พระองค์ผู้จากไป และได้มีการซักถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายสอ เศรษฐบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ธนบุรี) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซักถามว่า
ข้าพเจ้าอยากจะขอเรียนถามท่านอธิบดีกรมตำรวจในข้อที่สำคัญ คือว่านอกจากพระญาติวงศ์ซึ่งเข้าออกห้องพระบรรทมแล้ว มีใครบ้างที่เข้าได้บ้าง…
พล.ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ
เท่าที่ได้ฟังมาแล้วมีพระราชชนนี พระอนุชา และพวกมหาดเล็กห้องบรรทม (นายชิต สิงหเสนี, นายบุศย์ ปัทมศริน-ผู้เขียน) พระพี่เลี้ยง (พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์-ผู้เขียน) ส่วนคนอื่นใดนั้นข้าพเจ้ายังไม่ทราบ…”
พอมาถึงตอนนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนราษฎร (พระนคร) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ยุติการซักถามกันไว้ก่อน เพื่อคอยฟังแถลงการณ์ของรัฐบาล การถามตอบจึงยุติลง รัฐบาลจึงได้เสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 9 แห่งราชจักรีวงศ์ ตามกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หมวด 4 มาตรา 9 ข้อ 8 และด้วยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 9 ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นที่น่าสังเกตว่าการขึ้นเสวยราชย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนั้นมีเลข 9 เป็นกำลังสำคัญ คือ
เป็นรัชกาลที่ 9 แห่งราชจักรีวงศ์
ขึ้นเสวยราชย์ วันที่ 9 มิถุนายน
ปีขึ้นเสวยราชย์ พ.ศ. 2489
ตามกฎมณเทียรบาล หมวด 4 มาตรา 9 (8)
และด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 9
แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
หลังจากรัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์แล้ว นายกรัฐมนตรีท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้ว และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัย ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ
ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโยสามครั้ง ต่อจากนั้นประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานพฤฒสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าไปถวายพระพรในพระบรมมหาราชวัง และกราบบังคมทูลอัญเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชให้ขึ้นครองราชสมบัติตามมติของรัฐสภา
มีประกาศอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ ดังนี้
ประกาศ
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489
โดยที่ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 9 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎหมายมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
โดยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ที่ร่วมพระราชชนนี ตามความในมาตรา 9 (8) แห่งกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467
โดยที่รัฐสภาได้ลงมติ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 แสดงความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 9
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี
ต่อกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ฯ ปฏิปักษ์ทางการเมืองของท่านปรีดี ทั้งที่ปฏิปักษ์ทางชนชั้นคือพวกเศษเดนศักดินากับปฏิปักษ์ทางทัศนะคือ พวกเผด็จการ ต่างได้ฉวยใช้กรณีสวรรคตของพระองค์ท่านมาเป็นเครื่องมือทำลายท่านปรีดี กล่าวหาท่านปรีดีด้วยวิธีการปล่อยข่าวลือและโฆษณาชวนเชื่ออย่างลับ ๆ ว่าท่านปรีดีเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์
ท่านปรีดีได้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภาในวันประชุมที่อ้างแล้วข้างต้น ต่อข่าวลือใส่ร้ายป้ายสีมีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
…เสียงลืออกุศลว่าคนนั้นคนนี้ออกมาแล้วไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องลือสืบเนื่องมาจากความอิจฉาริษยาเป็นมูลหรือมีบ่างช่างยุ เป็นต้น เป็นมูลเหตุสืบเนื่องอย่างนั้น … และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่องพระองค์นี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ซึ่งจงรักภักดีท่านมากที่สุดกว่าหลาย ๆ คน ในขณะที่ท่านประจำอยู่ในต่างประเทศหรือที่ท่านได้กลับมาแล้วก็ดี สิ่งใดอันเป็นสิ่งที่ท่านพึงปรารถนาในส่วนพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าจัดถวายหรือบางสิ่งบางอย่างเมื่อท่านทรงรับสั่งถามข้อความอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงตามระเบียบแบบแผนของแนวรัฐธรรมนูญตามนิสัยของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าไม่อ้างพระนามหรือเอาพระนามของท่านไปอ้างในที่ชุมนุมชนใด ๆ ซึ่งบางแห่งทำกัน หรือในกรณีที่ท่านสวรรคตแล้ว ข้าพเจ้าก็พยายามที่สุดที่จะพยายามทำในเรื่องนี้ให้ข่าวกระจ่างเพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เราจะทำให้เรื่องเงียบอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทำอย่างคนบางคนทำโดยฉวยโอกาสเอาเรื่องสวรรคตของท่านไปโพนทะนากล่าวร้าย
และวันนั้นจะต้องกล่าวเสียด้วย ข่าวที่ข้าพเจ้าได้ทราบเกี่ยวแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น ข้าพเจ้าได้ทราบราวประมาณเกือบ 10 นาฬิกา เวลานั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับอธิบดีกรมตำรวจได้มาที่บ้าน เนื่องจากกรรมกรมักกะสันสะไตร้ค์ ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์เชิญราชเลขาไปด้วย เมื่อไปถึงแล้วเราอยู่ข้างล่างไม่ได้ขึ้นไปข้างบน เพราะเหตุว่าเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ จึงได้เชิญเจ้านายผู้ใหญ่มาพร้อมแล้วจึงขึ้นไปชั้นบน ส่วนในทางชั้นบนของท่านเป็นเรื่องที่ท่านทำปฐมพยาบาลในชั้นบน
ข้าพเจ้าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยเจ้านาย อันมีกรมขุนชัยนาทฯ เป็นผู้นำขึ้นไป ได้ขึ้นไปเป็นเวลาเที่ยงเศษ ๆ แล้ว ขึ้นไปดูพระบรมศพ และความจริงในการตรวจเราจะไปถือกรณีพระมหากษัตริย์เหมือนเอกชนไม่ได้ ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้ารู้เรื่องวิธีพิจารณาความอาญาว่าเป็นอย่างไรและจะต้องทำอย่างไร? ก็ได้บอกกับอธิบดีกรมตำรวจว่าเราจะต้องทำให้แน่ชัด เช่น เหมือนอย่างว่าบอกให้หมอเอาโพล็กไปใส่พระกะโหลก ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ราชาศัพท์ดี ได้ปรึกษาเจ้านาย บอกท่าน ท่านสั่นพระเศียร ข้าพเจ้าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าจะต้องผ่าพระกะโหลกก็เป็นเรื่องพระศพของพระมหากษัตริย์ จะทำให้เสียพระราชประเพณี และวิธีพิจารณาทางอื่นก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินว่า เราจะต้องสอบถามผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและแพทย์ประจำพระองค์คือ คุณหลวงนิตย์ฯ เป็นผู้ปฐมพยาบาล…
เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2489 ท่านปรีดีนายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อสอบหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนสถาบันหลักของชาติ คือ ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลอาญา อธิบดีกรมอัยการ ประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สามพระองค์ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ และนายสอาด นาวีเจริญ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต” และในระหว่างที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวกำลังสอบสวนหาความจริงนั้น ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคการเมืองบางพรรคได้ฉวยโอกาสเอากรณีสวรรคตไปโฆษณาโจมตีรัฐบาล (ท่านปรีดี) กระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกคำสั่งไปถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ประกาศอย่าให้ราษฎรหลงเชื่อคำโฆษณาอันเป็นเท็จนั้น คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 207/2489 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2489 มีข้อความบางตอนดังนี้
ด้วยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนคราวนี้ ได้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนผู้สมัคร ซึ่งใช้สมญาว่าพรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ฉวยโอกาสการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงราษฎรให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อก่อให้เกิดความดูหมิ่นและกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล… เพื่อให้ราษฎรลงคะแนนให้แก่ตนหรือพรรคของตน ตามทางสืบสวนได้ความว่า พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้หลอกลวงให้ราษฎรเข้าใจผิดในหัวข้อต่อไปนี้ ฯลฯ
4 กล่าวหารัฐบาลว่าปิดข่าวเรื่องสวรรคตและใส่ร้ายรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วยประการต่าง ๆ ความจริงนั้นรัฐบาลไม่ได้ปิดบัง และต้องการที่จะให้กรรมการได้สอบสวนเรื่องนี้โดยยุติธรรมและเปิดเผย ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งกรรมการสอบสวน และวิธีปฏิบัติซึ่งมีตุลาการ อัยการ ประธานสภาทั้งสอง นายพลทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้านายชั้นสูง และการสอบสวนก็ให้ประชาชนไปฟังได้ นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของประเทศไทย ที่การสอบสวนเช่นนี้ได้กระทำต่อหน้าประชาชน จะหาว่ารัฐบาลปิดบังประการใด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชชนนี ก็ได้พระราชทานพระราชกระแสฯ ต่อกรรมการแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมิได้มีข้อขัดแย้งหรือไม่พอพระทัยในรัฐบาลแต่อย่างใด ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ถวายความจงรักภักดี และกระทำตามทุกสิ่งทุกอย่างตามพระราชประสงค์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว นายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้อัญเชิญทูลเสด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จกลับมาครองราชย์ มิได้ปรารถนาที่จะกุมอำนาจที่จะทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ และไม่ได้กระทำการขัดขวางอย่างใด แต่ตรงกันข้ามกลับอัญเชิญเสด็จกลับมามอบถวายราชสมบัติแด่พระองค์
ในระหว่างที่พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ เมื่อมีผู้ปองร้ายต่อราชบัลลังก์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสียสละและเสี่ยงภัยเพื่อป้องกันราชบัลลังก์ให้ปลอดภัยตลอดมา เวลานั้นหามีผู้ใดเสี่ยงภัยเช่นนั้นไม่ แต่ตรงกันข้ามกลับประจบสอพลอผู้มีอำนาจ
รัฐบาลนี้มีความเสียใจที่พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ฉวยโอกาสเอาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในระหว่างที่พระองค์มีพระชนม์อยู่ ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์บางครั้งได้แอบอ้างว่า ในหลวงรับสั่งอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอยกตัวอย่างว่า ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 23 พฤษภาคม ศกนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ลวงไปร่วมประชุมก็คงจะจำได้ว่า วันนั้นใครอ้างพระนามในหลวงไปพูดในที่ประชุมว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งพระองค์เองไม่ทรงทราบเรื่องอะไรเลย พระองค์ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นกลางและเป็นที่สักการะโดยแท้จริง
ครั้นพระองค์สวรรคตแล้ว ก็เอาการสวรรคตของพระองค์เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไปอีก ได้พยายามปั้นข่าวเท็จตั้งแต่วันแรกสวรรคต ให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด ทั้งในทางพูด ทางโทรศัพท์ ทางโทรเลข และทางเอกสารหนังสือพิมพ์ พวกเหล่านี้ไม่ใช่เป็นพวกที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เป็นพวกที่แสวงหาผลประโยชน์จากพระมหากษัตริย์ เพื่อความเป็นใหญ่ของตน และเพื่อการเลือกตั้งที่จะได้ผู้แทนซึ่งเป็นพวกของตน
ดังจะเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ถ้าพวกนี้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ต่างประเทศ และในระหว่างที่ราชบัลลังก์ถูกกระทบกระเทือนในบางครั้ง และพระราชวงศ์ถูกผลปฏิบัติบางประการนั้น พวกประชาธิปัตย์บางคนซึ่งอ้างว่าจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งกว่าใคร ๆ นั้น ทำไมไม่เข้าเสี่ยงภัยคิดแก้ไขอย่างใดเลย แต่อาจมีบางคนกล่าวแก้ว่า เวลานั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ แต่ก็เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น ขอราษฎรอย่าได้เชื่อฟัง…
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ฝ่ายปฏิปักษ์ยกขึ้นมาโฆษณาชวนเชื่อว่าท่านปรีดีเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ เพราะว่าท่านปรีดีเป็นผู้นิยมระบอบมหาชนรัฐ
ต่อโฆษณาชวนเชื่อนี้ ในเวลาต่อมา แถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยในคดีสวรรคตได้ชี้ให้เห็นตอนหนึ่งว่า
…การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมหาชนรัฐนั้น เป็นเรื่องของการเปลี่ยนสถาบันอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นเรื่องของการล้มเลิกสถาบันเสีย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนตัวบุคคลดังทัศนะของนักนิยมอำนาจ การฆ่ากษัตริย์จึงไม่ใช่วิธีการหรือธรรมนิยมของนักมหาชนรัฐ…
และจดหมายของนายเลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่มีไปถึงท่านปรีดีที่ปารีส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2513 ได้ปรารภเรื่องเดียวกันนี้ มีความตอนหนึ่งดังนี้
…ผมเห็นว่าท่านอาจารย์มีกรรมเก่ามากกว่า เพราะถ้าพิจารณาถึงเหตุผลในเรื่องฆ่าในหลวงแล้ว ผมพูดเสมอว่า เมื่อมาถึงขั้นนั้นแล้ว ทำไมปรีดีจึงยุติ (ไม่ประกาศเลิกล้มสถาบันกษัตริย์เสีย แล้วสถาปนามหาชนรัฐขึ้นแทน แต่นี่ท่านกลับอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นนั่งราชบัลลังก์ เป็นรัชกาลที่ 9 สืบต่อมาจนถึงวันนี้-ผู้เขียน) ทั้ง ๆ ที่สภาทั้ง 2 อยู่ในกำมือ…

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2489 ท่านปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงธำรงฯ” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา และได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการศาลกลางเมือง (ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลท่านปรีดี) ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2489 ซึ่งมีสาระสรุปไว้ตอนปลายของรายงานฉบับนั้น ดังนี้
…คณะกรรมการได้ประมวลสอบสวนเข้าทั้งหมด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนไว้เดิมและที่สอบสวนโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนและเมื่อได้พิจารณาถึงคำพยานบุคคล วัตถุพยานและเหตุผลแวดล้อมกรณีต่าง ๆ ทุกแง่ทุกมุมโดยรอบด้านดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว คณะกรรมการเห็นว่า ในกรณีอันจะพึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตได้นั้น สำหรับกรณีอุบัติเหตุ คณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย ส่วนอีกสองกรณีคือถูกลอบปลงพระชนม์และทรงปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียโดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะของบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าได้เป็นไปเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรมการจึงไม่สามารถที่จะชี้ขาดว่าเป็นกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณี ทั้งนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการสืบสวน และปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป”
ต่อความเห็นของคณะกรรมการศาลกลางเมืองที่ว่ากรณีสวรรคตเกิดจากกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณี คือปลงพระชนม์เองและถูกลอบปลงพระชนม์นั้น สอดคล้องกับความเห็นของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ศาสตราจารย์หัวหน้าแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่ได้ให้รายละเอียดในกรณีนี้ไว้กับคณะกรรมการแพทย์ ดังนี้
ข้าพเจ้าได้หนังบาดแผลมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ตัดออกจากพระนลาฏของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ขณะที่ทำการชันสูตรพลิกพระบรมศพ บาดแผลเป็นเสมือนกากบาท มีหนังแยกเป็นสี่แฉก แฉกบน แฉกล่าง แฉกขวาและซ้าย เมื่อได้ใช้กล้องจุลทัศน์ชนิด 2 ตาส่องดู บนหนังนั้นมีรอยกดเป็นรอยโค้ง เห็นได้ชัดบนแฉกขวาและซ้าย แฉกบนไม่เห็นถนัดนัก และแฉกล่างไม่เห็นเลย ถ้าเอาส่วนโค้งเหล่านั้นมาต่อกันเข้าก็จะเป็นรูปวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 11 มม. เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าปลายแฉกเหล่านั้นเป็นรอยโค้ง และเส้นโค้งบนผิวหนังไม่ต่อกันเป็นรูปวงกลม นอกจากนั้นยังมีเนื้อที่เล็ก ๆ ไหม้อยู่ที่แฉกล่าง และมีสีแสดงว่าเป็นดินปืนติดอยู่ด้านในของหนังชั้นนั้นด้วย
แล้วหมอสุดก็สันนิษฐานจากลักษณะบาดแผลดังกล่าวข้างต้นนั้นว่า
รอยกดในหนังนั้นอาจเป็นไปโดยกดปากกระบอกปืนกระชับแน่นลงที่พระนลาฏก่อนยิง ถ้าหากเป็นการอุบัติเหตุแล้วปากกระบอกปืนคงไม่กดลงไปที่พระนลาฏกระชับแน่น ตามความเห็นของข้าพเจ้ามีทางอธิบายที่เป็นไปได้ 2 ประการเท่านั้น คือ ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่า ๆ กัน
ต่อลักษณะบาดแผลเป็นรอยกดปากกระบอกปืนวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 มม. ตามคำของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร นั้น คณะกรรมการศาลกลางเมืองได้มีความเห็นไว้ในรายงานดังกล่าวข้างต้นอีกตอนหนึ่งว่าดังนี้
…แผลนี้เกิดจากการยิงในระยะติดผิวหนังหรือห่างไม่เกิน 5 ซม. ลักษณะของบาดแผลเป็นดังนี้ คณะกรรมการเห็นพ้องด้วยความเห็นของแพทย์ส่วนมากในข้อที่ว่า โดยลักษณะของบาดแผลนั้นเอง แสดงให้เห็นว่าบาดแผลเกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ แต่ความตั้งใจนี้มิได้หมายความเฉพาะตั้งใจกระทำให้ตาย ย่อมหมายความรวมถึงความตั้งใจที่ยกปืนนี้ขึ้นไปจ่อติดหน้าผาก ซึ่งปืนอาจลั่นขึ้นโดยอุบัติเหตุก็ได้ด้วย
ต่อรายงานของคณะกรรมการศาลกลางเมือง รัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้ตั้งอนุกรรมการรัฐมนตรีขึ้น 7 ท่าน เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2489 เมื่ออนุกรรมการรัฐมนตรีพิจารณาเสร็จแล้วได้ส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้กรมตำรวจสืบสวนเอาตัวคนร้ายที่แท้จริงในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 มาดำเนินคดีต่อไป
ในขณะที่ตำรวจที่ทำการสืบสวนคืบหน้าใกล้ชิดตัวมือปืนเข้าไปทุกที รวมทั้งได้สอบถามปากคำของคนบางคนไว้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยในขณะนั้นได้ เมื่อข่าวนี้ได้แพร่ออกไป ก็ได้เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กับคณะรัฐประหารทำขึ้น แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาลเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2490 ครั้นแล้ว รัฐบาลนี้ก็ได้แต่งตั้งให้ พล.ต.ต. พระพินิจชนคดี พี่เขยของสองหม่อมราชวงศ์สำคัญแห่งพรรคประชาธิปัตย์ คือ เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งออกจากราชการรับบำนาญไปแล้วนั้น กลับเข้ารับราชการทำหน้าที่สืบสวนกรณีสวรรคตเสียใหม่ อันนำไปสู่การจับกุมนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน สองมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2490 หลังจากวันทำรัฐประหาร 12 วัน
โดยที่ พล.ต.ต. พระพินิจชนคดี (ยศขณะนั้น) และคณะไม่อาจสร้างพยานหลักฐานเท็จได้ทันในระยะเวลาสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนดคือ 90 วัน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 23 มกราคม 2491 ขยายกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีสวรรคตได้เป็นพิเศษ ให้ศาลอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาได้หลายครั้ง รวมเวลาไม่เกิน 180 วัน

คดีประวัติศาสตร์

ในที่สุดพนักงานสอบสวนกรมตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการหลังจากที่ได้พยายามสร้างพยานหลักฐานเท็จอยู่ถึง 180 วัน และอัยการก็รับสำนวนอันเป็นเท็จนั้นไปประติดประต่อเพื่อสรุปเขียนคำฟ้องอยู่อีก 34 วัน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อ 7 สิงหาคม 2491 โดยนายเฉลียว ปทุมรส เป็นจำเลยที่ 1 นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ฐานความผิดสมคบกันประทุษร้ายต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพทุบายเท็จเพื่อปกปิดการกระทำผิด
คำฟ้องมีทั้งหมด 5 ข้อ ลงนามโดยหลวงอรรถปรีชาธนูปการ (ฉอ้อน แสนโกสิก) โจทก์ ในจำนวน 5 ข้อนี้ ข้อ 3 ระบุความผิดไว้ดังนี้
(ก) เมื่อระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2489 เวลาใดไม่ปรากฏถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 3 นี้ กับพรรคพวกดังกล่าว (หมายถึงท่านปรีดี พนมยงค์ และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช-ผู้เขียน) ได้ทนงองอาจสมคบกันคิดการตระเตรียมจะกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยพรรคพวกดังกล่าวกับจำเลยได้ประชุมกันปรึกษาวางแผนการ และตกลงกันในอันที่จะกระทำการปลงพระชนม์เมื่อใด และให้ผู้ใดเป็นผู้รับหน้าที่ร่วมกันไปกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และจำเลยที่ 3 นี้ ได้บังอาจช่วยกันปกปิดการสมคบกันจะประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว และจำเลยหาได้เอาความนั้นไปร้องเรียนไม่ เหตุเกิดที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
โจทก์ได้นำสืบในเวลาต่อมาว่า สถานที่ที่จำเลยและพวกไปประชุมวางแผนการปลงพระชนม์นั้น คือบ้านของ พล.ร.ต.พระยาศรยุทธเสนี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และพยานโจทก์ปากเอกที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้คือ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ซึ่งอ้างว่าได้อาศัยอยู่ในบ้านพระยาศรยุทธเสนีก่อนเกิดกรณีสวรรคต
ต่อคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้น โดย พล. ต.ต. พินิจชนคดีและคณะ (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือของผมหลายเล่มที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต-ผู้เขียน) ซึ่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังคำเบิกความนั้น ศาลฎีกาถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ อย่างสิ้นเชิงอย่างเช่นศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็ไม่ยืนยันว่าคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นความจริง ดังข้อสรุปคำวินิจฉัยของสามศาลต่อคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ว่าดังนี้
คำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีดำที่ 1898/2491 คดีแดงที่ 1266/2494 วันที่ 27 กันยายน 2494 ว่าดังนี้
ใครเลยจะเชื่อฟังคำนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นความจริงไปได้ กลับจะยิ่งเห็นนิสัยของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ถนัดขึ้นไปอีกว่าเข้าลักษณะที่เรียกกันว่าคุยโม้เสียแน่แล้ว
ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไว้ในคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 3056/2494 คดีหมายเลขแดงที่ 2636/2494 วันที่ 28 ตุลาคม 2496 ว่าดังนี้
ยิ่งคิดไปก็ไม่มีทางที่ศาลอุทธรณ์จะรับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ตอนนี้ได้
ศาลฎีกาได้มีความเห็นในคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไว้ในคำพิพากษาลงวันที่ 12 ตุลาคม 2497 โดยสรุปว่าดังนี้
ในเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ (คำของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่อ้างว่าได้ยินจำเลยกับพวกพูดจาวางแผนปลงพระชนม์กันว่าอย่างนั้นอย่างนี้-ผู้เขียน) ศาลเห็นว่า จะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด
จากคำวินิจฉัยของสามศาล ในประเด็นตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3 (ก) ที่ว่า
จำเลยทั้ง 3 กับพวกได้ทะนงองอาจสมคบกันคิดการตระเตรียมจะกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยพรรคพวกดังกล่าวกับจำเลยได้ประชุมกันปรึกษาวางแผนการ
และผู้ที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้รู้เห็นการวางแผนการนี้คือ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ซึ่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธไม่รับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง ดังที่ยกมาข้างต้นนั้น
ส่วนศาลฎีกา ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ อย่างที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ปฏิเสธมาแล้ว แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้รับว่าคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ อันเป็นโครงสร้างของคดีนี้ว่าเป็นความจริง ศาลฎีกามีความเห็นแต่เพียงว่า
ศาลเห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดยังไม่ถนัด
เมื่อฟังไม่ถนัด ตามหลักนิติธรรมก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย
นั่นคือ จำเลยกับพวกไม่ได้มีการวางแผนการปลงพระชนม์กันที่ (บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี) ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3 (ก) และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าได้มีการวางแผนการปลงพระชนม์กันที่อื่นอีก
นอกจากนี้มือปืนที่ลอบปลงพระชนม์โจทก์พยายามนำสืบให้เห็นเป็นว่ามือปืนผู้นั้นคือ เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช หนึ่งในห้าคนที่ร่วมวางแผนการปลงพระชนม์ ณ บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนีนั้น ซึ่งโจทก์มีพยานนำสืบสองชุด แต่ศาลฎีกาได้พิพากษาฟันธงลงไปว่า
พยานสองชุดนี้ยังไม่เป็นหลักฐานพอที่จะได้ชี้ว่าใครเป็นผู้ลงมือลอบปลงพระชนม์
จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ได้มีการวางแผนปลงพระชนม์กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3 (ก) และตามการนำสืบพยานของโจทก์
อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ในการไม่ยอมรับคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ว่าเป็นความจริงนั้น นอกจากจะได้รับการยืนยันจากบันทึก (ลับ) ของ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ซึ่งได้เปิดเผยต่อสาธารณชนไปแล้ว ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ ยังได้ไปสารภาพบาปกับท่านปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ขณะที่ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ อายุได้ 102 ปี ว่าไปเป็นพยานเท็จในคดีสวรรคต ทำให้ผู้บริสุทธิ์สามคนต้องถูกประหารชีวิต และนายตี๋ ศรีสุวรรณ ยังได้ให้บุตรเขยเขียนจดหมายไปขอขมาท่านปรีดีที่ปารีส ข้อความรายละเอียดในจดหมายว่าดังนี้
บ้านเลขที่ 2386
ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
25 มกราคม 2522
เรียน นายปรีดี ที่นับถือ
นายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นพ่อตาของผม ขอให้ผมเขียนจดหมายถึงท่าน นายตี๋เขียนจดหมายไม่ได้ เมื่อครั้งไปให้การที่ศาลก็ได้แค่เซ็นชื่อตัว ต. และพิมพ์มือเท่านั้น นายตี๋จึงให้ผมซึ่งเป็นบุตรเขยเขียนตามคำบอกเล่าของนายตี๋ เพื่อขอขมาลาโทษต่อท่าน นายตี๋ให้การต่อศาลว่านายปรีดี นายวัชรชัย นายเฉลียว นายชิต นายบุศย์ ไปที่บ้านพระยาศรยุทธ ข้างวัดชนะสงคราม เพื่อปรึกษาลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ไม่เป็นความจริง นายตี๋เอาความไม่จริงมาให้การต่อศาล เพราะพระพินิจได้เกลี่ยกล่อมว่าจะให้เงินเลี้ยงนายตี๋จนตาย เมื่อให้การแล้วพระพินิจให้เงินนายตี๋ 500-600 บาท และให้นายตี๋กินอยู่หลับนอนอยู่ที่สันติบาลประมาณสองปีเศษ เดิมพระพินิจบอกว่าจะให้ 2 หมื่นบาท เมื่อเสร็จคดีแล้วพระพินิจก็ไม่จ่ายให้อีกตามที่รับปากไว้ เวลานี้นายตี๋รู้สึกเสียใจมากที่ทำให้สามคนตาย และนายปรีดีกับนายวัชรชัยที่บริสุทธิ์ต้องถูกกล่าวหาด้วย นายตี๋ได้ทำบุญกรวดน้ำให้กับผู้ตายเสมอมา แต่ก็ยังเสียใจไม่หาย เดี๋ยวนี้ก็มีอายุมากแล้ว (102 ปี-ผู้เขียน) อีกไม่ช้าก็ตาย จึงขอขมาลาโทษท่านปรีดี นายวัชรชัย นายเฉลียว นายชิต และนายบุศย์ ที่นายตี๋เอาความเท็จมาให้การปรักปรำ ขอได้โปรดให้ขมาต่อนายตี๋ด้วย
ข้อความทั้งหมดนี้ ผมได้อ่านให้นายตี๋ฟังต่อหน้าคนหลายคนในวันนี้ เวลาประมาณ 11 น. เศษ และได้ให้นายตี๋พิมพ์ลายมือนายตี๋ต่อหน้าผมและคนฟังด้วย
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
เลื่อน ศิริอัมพร
ต. (พิมพ์ลายมือนายตี๋)
แต่ทั้ง ๆ ที่ศาลอาญาไม่เชื่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ว่าได้มีการวางแผนปลงพระชนม์กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3 (ก) แต่ศาลอาญาก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิตนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ด้วยความผิดต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอน 2 และปล่อยตัวนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 กับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 พ้นข้อหาไป
ต่อมาศาลอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่ในคำพิพากษานั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่เชื่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ เช่นเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้แก้คำพิพากษาศาลอาญา ให้ประหารชีวิตนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ร่วมเข้าไปด้วย ด้วยความผิดต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอน 2 คงปล่อยพ้นข้อหาไปแต่นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1
ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอ้างกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอน 2 มาลงโทษนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ได้อ้างคำให้การของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ได้ให้การไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2490 (ต่อพนักงานสอบสวน-ผู้เขียน) มีความว่า
ในการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 นี้ ถ้าเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาลอบปลงพระชนม์ จะต้องมีมหาดเล็กหรือบุคคลภายในเป็นสายชักจูงนำเข้ามาจึงจะทำการได้สำเร็จ ถ้าเป็นคนภายในลอบปลงพระชนม์แล้ว ย่อมทำได้สะดวกกว่าบุคคลภายนอก สำหรับบุคคลภายในที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ก็มีแต่ข้าฯ กับนายบุศย์สองคนเท่านั้น หากว่าจะมีความผิดในกรณีสวรรคตนี้แล้ว ก็มีข้าฯ กับนายบุศย์สองคนนี้เท่านั้นที่จะต้องรับผิดอยู่ด้วย…
(เพราะสองคนนี้นั่งอยู่หน้าประตูหน้าห้องพระบรรทมขณะเกิดเหตุ และทางเข้าห้องบรรทมในขณะนั้นก็มีอยู่ทางเดียว คือทางประตูที่นายชิต-นายบุศย์ นั่งเฝ้าอยู่-จากคำพิพากษา)
ส่วนศาลฎีกาพิพากษาฟันธงลงไปเลยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน ในความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอน 2
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97 ตอน 2 ว่าไว้ดังนี้
ผู้ใดทะนงองอาจกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงต้องประหารชีวิต
ผู้ใดพยายามจะกระทำการประทุษร้ายเช่นว่ามาแล้ว แม้เพียงตระเตรียมการก็ดี สมคบกันเพื่อการประทุษร้ายนั้นก็ดี หรือสมรู้เป็นใจด้วยผู้ประทุษร้าย ผู้พยายามจะประทุษร้ายก็ดี มันรู้ว่าผู้ใดคิดประทุษร้ายเช่นว่ามานี้ มันช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นก็ดี ท่านว่าโทษมันถึงตายดุจกัน
แต่คำฟ้องของโจทก์ข้อ 3 (ก) และการนำสืบพยานของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามกับพวก (หมายถึงท่านปรีดีและเรือเอกวัชรชัย-ผู้เขียน) ได้ไปประชุมวางแผนการปลงพระชนม์กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ท้องที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2489 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 แต่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาดังที่อ้างมาแล้วข้างต้นนั้นว่าไม่เชื่อถือคำเบิกความของพยานโจทก์ และศาลฎีกาแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธคำเบิกความของพยานโจทก์อย่างสิ้นเชิงอย่างเช่นสองศาลที่ผ่านมาก็จริง แต่ศาลฎีกาก็ได้ชี้ออกมาอย่างชัดเจนว่า “ศาลเห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นอย่างหนึ่งใดยังไม่ถนัด” และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าได้มีการวางแผนการปลง พระชนม์กัน ณ ที่ใดอีก
เมื่อฟังไม่ถนัด ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว” แต่ศาลฎีกาท่านฟันธงลงไปให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน โดยอ้างความผิดของจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอน 2 ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97 ตอน 2 ว่าไว้ประการใดขอให้ย้อนกลับไปอ่านอีกที
ใช่แล้ว นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ได้ให้การไว้อย่างชัดเจนว่า ขณะเกิดเหตุมีเขากับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 สองคนเท่านั้น ที่นั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าออกห้องพระบรรทม และได้ให้ความเห็นไว้ว่า
หากว่าจะมีความผิดในกรณีสวรรคตนี้แล้ว ก็มีข้าฯ กับนายบุศย์สองคนเท่านั้นที่จะต้องรับผิดอยู่ด้วย
ใช่แล้ว กรณีสวรรคตเกิดขึ้นจริงในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาประมาณ 09.25 น. เหตุเกิด ณ ห้องพระบรรทม บนพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และแม้ว่าขณะเกิดเหตุนายชิต-นายบุศย์ จำเลย นั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องพระบรรทมก็จริง แต่ก็ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย (ดังคำวินิจฉัยของศาลที่ยกมาข้างต้น) สำหรับนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากจะไม่ได้สมรู้ร่วมคิดเช่นเดียวกับนายชิต-นายบุศย์ จำเลยทั้งสองนั้นแล้ว ในเช้าวันเกิดเหตุ นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุนั้นนับสิบกิโลเมตร และลาออกจากราชการไปแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนายเฉลียว ปทุมรส จึงถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตด้วย นอกเสียจากว่านายเฉลียว ปทุมรส เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นคนจังหวัดอยุธยาเช่นเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เท่านั้นเอง
ดังนั้น เมื่อนายเฉลียว ปทุมรส ถูกจับเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 พ.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร ผู้ไปจับกุม ได้ค้นพบบันทึกลับของ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ที่ระบุว่า ท่านถูกพระพินิจชนคดีบีบบังคับให้เป็นพยานเท็จ (ถ้าไม่ยอมเป็นพยานจะเอาเป็นผู้ต้องหาด้วย) ปรักปรำผู้บริสุทธิ์ พ.ต.อ. เยื้อนจึงถามคุณเฉลียวว่า ทำไมไม่หนีไปเสีย (ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์สั่งปล่อยพ้นข้อหา ขณะนั้นคดีอยู่ระหว่างศาลฎีกา) คุณเฉลียวตอบอย่างนักเลงอยุธยาว่า
ผมจะหนีทำไม ในเมื่อผมบริสุทธิ์
และคุณเฉลียวก็ต้องตายเพราะความบริสุทธิ์นั้นเอง

ปัจฉิมวาจาของสามนักโทษประหาร

-->
หลังจากที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน เมื่อ 12 ตุลาคม 2497 แล้วต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497 จำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาดังกล่าวได้ตกไปในที่สุด
เกี่ยวกับการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยทั้งสามนั้น พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม (บุตรชายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้เขียนไว้ในหนังสือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศูนย์การพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีความตอนหนึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม (ผู้เขียน) กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศญี่ปุ่นว่าดังนี้
…ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้น (พ.ศ. 2498-ผู้เขียน) ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนถึงที่สุดแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้น ขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง
(จากหนังสือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หน้า 687)
และก็สอดคล้องกับหนังสือแจกงานศพของนายชิต สิงหเสนี ที่บุตรสาวของท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือนั้น มีความว่า
ภายหลังที่พ่อถูกประหารชีวิตแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ส่งนายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัวของท่านไปหาพวกเรา แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลยินดีจะให้การอุปการะความเป็นอยู่การศึกษาแก่พวกเราทุกประการ พวกเราปรึกษาหารือกัน และในที่สุดตกลงรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อเป็นเครื่องยืนยันในความบริสุทธิ์ของพ่อ รัฐบาลจึงให้ความช่วยเหลือแก่พวกเรา ความช่วยเหลือนี้เพิ่งมายกเลิกในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
นอกจากนี้คุณชอุ่ม ชัยสิทธิเวช ภรรยาของเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ผู้ที่โจทก์พยายามเสกสรรปั้นแต่งพยานเท็จให้เป็นมือปืนและต้องลี้ภัยคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไปอยู่ต่างประเทศนั้น ก็ยังได้รับเมตตาให้เข้าทำงานเป็นแม่บ้านของโรงเรียน ภปร. ที่นครชัยศรี
ในที่สุดวันจากไปของผู้บริสุทธิ์ทั้งสามก็มาถึง คือเช้ามืดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 หลังจากวันเสด็จจากไปของพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติเมื่อ 9 มิถุนายน 2489 เป็นเวลา 8 เดือน 8 วัน
วันนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งครองตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วย ได้ไปเป็นประธานควบคุมการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้งสามด้วยตนเอง และได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งสามคนนั้นตามลำพัง นัยว่าได้มีการบันทึกเสียงการพูดคุยนั้นไว้ด้วย
สำหรับคุณเฉลียว ปทุมรส นั้น ขณะเกิดเหตุปลงพระชนม์ เขาอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุนับสิบกิโลเมตร และออกจากราชการไปแล้วด้วย คำสนทนาของเขาในเรื่องนี้ก็คงเช่นเดียวกับคนอื่นที่อยู่นอกเหตุการณ์รวมทั้งท่านปรีดีด้วย คือไม่รู้อะไรในเรื่องนี้เลย นอกจากจะยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขา และเขาก็คงจะนึกถึงโคลงสี่สุภาพของศรีปราชญ์ที่จารึกไว้บนพื้นทรายก่อนถูกประหารชีวิตที่นครศรีธรรมราช ว่า
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง

ส่วนคุณชิต-คุณบุศย์ นั้น เนื่องจากขณะเกิดเหตุ เขาทั้งสองนั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องพระบรรทม และเป็นทางเดียวที่จะเข้าสู่ห้องพระบรรทมในเวลานั้น ดังนั้นถ้ามีผู้เข้าไปปลงพระชนม์ คุณชิต-คุณบุศย์ จะต้องเห็นอย่างแน่นอน
คุณฟัก ณ สงขลา ทนายความของสามจำเลย เคยสอบถามคุณชิต-คุณบุศย์ ว่าใครเข้าไปปลงพระชนม์ในหลวง คุณชิต-คุณบุศย์ไม่ยอมพูด แต่กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ คุณชิต-คุณบุศย์จะยอมพูดความจริงก่อนตายหรือไม่ ไม่มีใครรู้
แต่เป็นที่รู้กันในภายหลังว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ทำบันทึกคำสนทนากับผู้ต้องประหารชีวิตทั้งสามคน ในเช้าวันนั้นเสนอจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ่านแล้ว แทงกลับไปว่าให้เก็บไว้ในแฟ้มลับสุดยอด
ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำริจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคน และท่านปรีดี แต่ตามกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ เมื่อคดีถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้วเป็นอันยุติ ดังนั้น ถ้าจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก็ต้องมีกฎหมายรองรับให้อำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเตรียมการที่จะออกกฎหมายดังกล่าวนั้น และได้บอกคุณสังข์ พัธโนทัย คนสนิทผู้รับใช้ใกล้ชิดให้ทราบ เพื่อแจ้งไปให้ท่านปรีดีฯ ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอยู่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับทราบ
ต่อจดหมายของคุณสังข์ พัธโนทัย ที่มีไปถึงท่านปรีดีเล่าถึงบันทึกของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และความดำริจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังกล่าวข้างต้น ท่านปรีดีได้มีจดหมายตอบคุณสังข์ พัธโนทัยในเวลาต่อมา และจดหมายฉบับนี้นายวรรณไว พัธโนทัยลูกชายของคุณสังข์ได้มอบให้หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ นำไปเปิดเผยในฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ที่ผ่านมา ดังสำเนารายละเอียดต่อไปนี้
วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2499
คุณสังข์ พัธโนทัย ที่รัก
ผมได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ 12 เดือนนี้กับหนังสือ ความนึกในกรงขัง แล้วด้วยความรู้สึกขอบคุณมากในไมตรีจิตและความเปนธรรมที่คุณมีต่อผม
ผมมีความยินดีมากที่ได้ทราบจากคำยืนยันของคุณว่า ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้เปนศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอ และอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเปนดังที่คุณกล่าวว่าเหตุการณ์ไม่ช่วยเราเสมอไปและจำเปนต้องใช้ความอดทนอยู่มากก็ตาม แต่ผมก็มีความหวังว่า โดยความช่วยเหลือของคุณผู้ซึ่งมีใจเปนธรรมและมีอุดมคติที่จะรับใช้ชาติและราษฎรอย่างบริสุทธิ์ ผมคงจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงเจตนาดีของผมในส่วนที่เกี่ยวแก่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการงานของชาติและราษฎรที่เราทั้งหลายจะต้องร่วมมือกันเพื่อความเปนเอกราชสมบูรณ์ของชาติ ผมจึงมีความปรารถนาเปนอย่างมากที่จะได้มีโอกาสพบกับคุณในเวลาไม่ช้านัก เพื่อปรึกษาหารือกับคุณถึงเรื่องนี้และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกหลายประการซึ่งบางทีคุณอาจต้องการทราบ
ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกที่คุณเผ่าได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้า ที่ยืนยันว่าผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งตัวผมมิได้มีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคต ดังนั้น นอกจากผมขอแสดงความขอบคุณเปนอย่างยิ่งมายังคุณ ผมจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดดลบันดาลให้คุณมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปและประสบทุกสิ่งที่คุณปรารถนาทุกประการ
ผมขอส่งความรักและนับถือมายังคุณ
ปรีดี พนมยงค์
แต่ความดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องล้มเหลว เมื่อข่าวจะออกกฎหมายให้รื้อฟื้นคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้นำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ (ถ้าหากโจทก์หรือจำเลย มีเอกสารหลักฐานที่เพิ่งค้นพบใหม่) ได้แพร่ออกไปถึงบุคคลบางจำพวก และคนพวกนั้นได้สนับสนุนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับที่เคยสนับสนุนคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯ (ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันคือกลัวว่ามือปืนตัวจริงจะถูกเปิดเผย)
ท่านปรีดีได้พูดถึงเรื่องนี้เมื่อหนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ โดยคุณวีระ โอสถานนท์ ได้ไปสัมภาษณ์ท่านขณะที่พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส มีความตอนหนึ่ง ดังนี้
คุณวีระ โอสถานนท์ ถามว่า
มีผู้พูดกันว่า จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ได้หลักฐานกรณีสวรรคตใหม่นั้น ท่านจะบอกได้หรือไม่ว่าอะไร
นายปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า
แม้ศาลฎีกาซึ่งมีผู้พิพากษาคณะเดียว โดยมิได้มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้ตัดสินประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน (หลังจากที่คุณสังข์ได้รับจดหมายขอบคุณจากท่านปรีดีแล้ว) แจ้งว่า ได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนและผมเป็นผู้บริสุทธิ์
ฉะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ด้วยความเป็นธรรม
ครั้นแล้วก็มีผู้ยุยงให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลี้ภัยอยู่ใน ส.ร.อ. ชั่วคราว ก็ได้กล่าวต่อหน้าคนไทยไม่น้อยกว่าสองคนถึงหลักฐานที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้มานั้น
อีกทั้งในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ย้ายจาก ส.ร.อ. มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้แจ้งแก่บุคคลไม่น้อยกว่าสองคนถึงหลักฐานใหม่นั้น พร้อมทั้งมีจดหมายถึงผมสองฉบับ ขอให้ผมอโหสิกรรมแก่การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำผิดพลาดไปในหลายกรณี
ผมได้ถือคติของพระพุทธองค์ว่า เมื่อมีผู้รู้สึกตนผิดพลาดได้ขออโหสิกรรม ผมก็ได้อโหสิกรรมและขออนุโมทนาในการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปอุปสมบทที่วัดพุทธยา…
ท่านปรีดีกล่าวให้สัมภาษณ์ในที่สุดว่าพวกฝรั่งก็สนใจกันมาก เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม
ทุกวันนี้ก็มีคนพูดซุบซิบกัน ถึงกับนักเรียนหลายคนถามผม ผมก็ขอตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ในขณะนี้ จึงขอฝากอนุชนรุ่นหลังและประวัติศาสตร์ตอบแทนด้วย

-->
ที่มา:สุพจน์ ด่านตระกูล