ภาพตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน เป็นภาพ คิม จอง อึน ให้คำแนะนำขณะเยี่ยมชมโรงงาน ในภาพคนยืนหันหลังคือนายรี แจ อิล กรรมการกลางบริหารพรรคแรงงานเกาหลี และเป็นหัวหน้าแผนกการโฆษณาชวนเชื่อ
ภาพตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน เป็นภาพสมาร์ทโฟนรุ่น 'อารีรัง' ที่ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเกาหลีเหนือเชื่อว่า อาจจะไม่ได้ผลิตในเกาหลีเหนือ แต่สั่งผลิตมาจากโรงงานในจีน
สื่อเกาหลีเหนือแพร่ข่าว "คิม จอง อึน" ตรวจโรงงานสมาร์ทโฟน "อารีรัง"
หนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน หรือหนังสือพิมพ์กรรมกร ของพรรคแรงงานเกาหลี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีเหนือ ฉบับวันที่ 12 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา รายงานว่า คิม จอง อึน เลขาธิการคนที่หนึ่งของพรรคแรงงานเกาหลี ประธานคณะกรรมการธิการป้องกันประเทศ และ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพประชาชนเกาหลี ได้เยี่ยมชมโรงงาน "11 พฤษภาคม" โดยระบุว่าโรงงานนี้ เป็นโรงงานผลิตสมาร์ทโฟน "อารีรัง" (아리랑) ยี่ห้อซึ่งตั้งชื่อจากเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเกาหลี
ตามข่าวระบุว่า คิน จอง อึน ได้แสดงความชื่นชมต่อ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความรักชาติอย่างแรงกล้า ของเจ้าหน้าที่และพนักงานของโรงงาน ที่วางรากฐานของการผลิตโทรศัพท์มือถือแบบอุตสาหรรม ด้วยกระบวนการผลิตมือถือรุ่นใหม่
กล่าวยกย่อง "แอพพลิเคชั่นสไตล์เกาหลี" และกล้องถ่ายรูปความละเอียดสูง
คิม จอง อึน ยังได้ยกย่องคนงานของโรงงาน ที่ได้พัฒนาแอพลิเคชั่น "สไตล์เกาหลี" ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ และให้หลักประกันเรื่องความปลอดภัย
มีรายงานด้วยว่า หลังจากที่ คิม จอง อึน ได้ชมการสาธิตวิธีการใช้มือถือแบบ "จอสัมผัส" แล้ว เขากล่าวว่าโทรศัพท์มือถือสะดวกสำหรับผู้ใช้ เมื่อมีส่วนหนึ่งของโทรศัพท์ที่สามารถตอบสนองได้ และมือถือเหล่านี้จะยิ่งสะดวกสำหรับผู้ใช้มากขึ้นไปอีก หากฟังก์ชั่นกล้องถ่ายรูปในตัวเครื่องเป็นรุ่นที่ให้ความละเอียดของภาพสูง
หนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน รายงานด้วยว่า หลังจากที่คิม จอง อึน ทราบว่าโทรศัพท์มือถือ "อารีรัง" ซึ่งโรงงานได้เริ่มผลิตเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นที่ต้องการในหมู่ประชาชนอย่างสูง เขากล่าวว่า เขารู้สึกยินดีที่ประชาชนชื่นชอบสมาร์ทโฟน
คิม จอง อึน ยังกล่าวด้วยว่า กระบวนการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม และใช้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นแบรนด์เพื่อสร้าง "ความภูมิใจในชาติ" และ "การเคารพในตนเอง" ในหมู่ประชาชนเกาหลี
ในข่าวระบุด้วยว่า คิม จอง อึน กล่าวด้วยว่า คุณภาพของผลิตภัณฑ์นี้จะยิ่งขับเน้นตัวผลิตภัณฑ์ และประชาชนก็จะชอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้เอง และสมาร์ทโฟน "อารีรัง" นี้ก็จะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
ผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อสมาร์ทโฟนผลิตในเกาหลีเหนือจริง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีเหนือเคยเปิดตัวแท็บเล็ตแบบออฟไลน์ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ รุ่น “ซัมจิยอน” (Samjiyon/삼지연) ตั้งชื่อตามทะเลสาบเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศ สถานที่ซึ่งคิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ ได้รวมกำลังต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น และ “อาชิม” (Achim/아침) หรือ ยามเช้า (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
อย่างไรก็ตาม หลังการเผยแพร่ข่าวของโรดอง ซินมุน บีบีซี ของอังกฤษ ได้รายงานความเห็นของ มาร์ติน วิลเลียม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเกาหลีเหนือ ที่เขียนบทความลงใน Northkoreatech ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเปิดเผยว่าแท็บเล็ตจากเกาหลีเหนือรุ่น “ซัมจิยอน” น่าจะผลิตในประเทศจีน โดยเคยรีวิวว่ามีชิ้นส่วนหนึ่งของแท็บเล็ตดังกล่าวมีรหัสซอฟท์แวร์ที่เชื่อมโยงกับโรงงานผลิตจากฮ่องกง (อ่านบล็อกที่รายงานโดยมาร์ติน วิลเลียม) โดยในกรณีของสมาร์ทโฟน "อารีรัง" ดังกล่าว วิลเลียมกล่าวว่าไม่น่าจะผลิตในเกาหลีเหนือเช่นกัน โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ในข่าวที่เผยแพร่ออกมาจากสื่อเกาหลีเหนือนั้น ไม่มีภาพที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนจริงๆ และอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่เห็น "อาจจะสั่งผลิตมาจากโรงงานจีน และส่งมายังโรงงาน 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพวกเขามาตรวจสิ่งของก่อนที่จะนำไปจำหน่าย"
-->
"เจ้ากรมโฆษณาชวนเชื่อ" ติดตาม คิม จอง อึน ทดสอบสมาร์ทโฟนด้วย
ทั้งนี้ตามข่าวของหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน อีกร่องรอยหนึ่งก็คือ ในการเยี่ยมชม "โรงงาน 11 พฤษภาคม" ของคิม จอง อึนนี้ ยังมีผู้ติดตามอีก 2 คน คือ นายรี แจ อิล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการกลางบริหารพรรคแรงงานเกาหลี และเป็นหัวหน้าแผนกการโฆษณาชวนเชื่อ และ คิม เปียง โฮ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกลางเกาหลี ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วย
อนึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ เทเลกราฟ เคยรายงานภาพข่าวสมาร์ทโฟนบนโต๊ะทำงานของคิม จอง อึน ต่อมา ซัมซุง บริษัทผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของเกาหลีใต้ ได้แถลงข่าวทันทีว่าภาพที่เห็นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของซัมซุง ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองของเกาหลีใต้ได้วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นมือถือยี่ห้อ HTC ของไต้หวัน
ทั้งนี้เกาหลีเหนือ เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2551 ร่วมลงทุนโดยมีบริษัทจากอียิปต์ Orascom ส่วนเครือข่ายอินทราเน็ตภายในประเทศเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่ผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศอยู่ที่ราว 1 ล้านคน แต่ก็เป็นเครือข่ายที่ใช้ได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เช่นเดียวกับอินทราเน็ตที่ถูกตัดขาดจากโลก "เวิลด์ไวด์เว็บ" ภายนอกอย่างสิ้นเชิง