วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556
เมื่อเป็นหนี้ เจ้าหนี้ยึดทรัพย์เราได้หรือไม่
คนที่จะมายึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนของเรา คงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่เรารู้จักคุ้นเคยมาเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “เจ้าหนี้” นั่นเองค่ะ แต่การยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนนั้น ไม่ใช่ว่าเจ้าหนี้จะสามารถทำได้เองโดยพลการนะคะ เจ้าหนี้สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี และเราผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 15 หรือ 30 วัน แล้วแต่ศาลจะกำหนดในคำพิพากษา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าหนี้เองก็สามารถยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือนของเราได้ แต่ศาลก็ไม่ได้ใจร้ายกับเราผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ตาดำๆ เสียทีเดียวค่ะ ยังมีข้อยกเว้นในการยึดทรัพย์เพื่อให้ลูกหนี้ยังพอมีรายได้ประทังชีวิตต่อไปได้ ดังนี้ค่ะ
1. ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต มูลค่า 50,000 บาทแรก เจ้าหนี้ห้ามยึดค่ะ เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริงๆ หากไม่มี จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบาก ทรัพย์สินที่จำเป็น ได้แก่ โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ โทรทัศน์ เครื่องครัว แต่ถ้าเป็นสร้อยคอ แหวนทอง แหวนเพชร นาฬิกาสุดหรู ที่เราใส่ประดับเพื่อแสดงถึงฐานะทางการเงินของเราแล้วล่ะก็ เจ้าหนี้สามารถยึดได้ค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต แม้ว่าเราจะคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีก็ตาม
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกันไม่ถึง 100,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้ยึดเช่นกัน เพราะจะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร (ในกรณีที่ประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) หากเครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็สามารถร้องขอต่อศาลได้ค่ะ
หากมีเจ้าหนี้หลายราย เมื่อเจ้าหนี้รายใดได้ยึดทรัพย์สินนั้นไปแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะไม่สามารถยึดซ้ำได้อีก ดังนั้น เจ้าหนี้รายไหนมาก่อนก็จะได้สิทธิยึดก่อนค่ะ
ส่วนการอายัดเงินเดือน หรือรายได้ที่ลูกหนี้ได้รับมานั้น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อศาลได้ตัดสินแล้ว แต่ลูกหนี้เงียบเฉย ไม่ติดต่อ ไม่จ่ายเงิน หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ดังนั้น หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นๆ จะไม่สามารถอายัดได้อีก จะสามารถอายัดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้รายแรก อายัดครบก่อน
สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของข้าราชการ จะไม่ถูกอายัดเงินเดือนค่ะ แต่ถ้าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานบริษัท จะถูกอายัดเงินเดือนโดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. อายัดเงินเดือนไม่เกิน 30% โดยคำนวณจากเงินเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ เช่น ลูกหนี้มีเงินเดือน 9,000 บาท เจ้าหนี้จะไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ค่ะ การอายัดเงินเดือนจะทำได้เมื่อลูกหนี้มีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท และเมื่ออายัด 30% แล้วจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ด้วย ดังนั้น หากลูกหนี้มีเงินเดือน 12,000 บาท เจ้าหนี้อายัด 30% (เท่ากับ 3,600 บาท) จะทำให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือเพียง 8,400 บาท (12,000 – 3,600) ในกรณีนี้ เจ้าหนี้จะอายัดได้เพียง 2,000 บาท คงเหลือเงินจำนวน 10,000 บาทให้ลูกหนี้ใช้จ่ายนั่นเองค่ะ แต่ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือน 15,000 บาท เมื่อเจ้าหนี้อายัด 30% (4,500 บาท) จะทำให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือ 10,500 บาท (15,000 – 4,500) ในกรณีนี้เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 30% เต็มๆ ค่ะ
แต่ก็มีกรณียกเว้น หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำหลักฐานไปลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้เจ้าหนี้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดได้ค่ะ
2.โบนัส เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ไม่เกิน 50% ดังนั้น เมื่อได้เงินโบนัสมา อย่าเพิ่งดีใจไปค่ะ เพราะเจ้าหนี้สามารถอายัดได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อหักภาษีแล้วลูกหนี้จะเหลือใช้ไม่ถึงครึ่งนะคะ
3.เงินตอบแทนจากการออกจากงาน เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 100% กรณีนี้เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดค่ะ เพราะนอกจากจะไม่มีงานทำแล้ว (หากไม่มีงานที่ใหม่) เงินที่ได้รับมาเจ้าหนี้ก็ยังอายัดได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ลดภาระหนี้ลงได้ค่ะ
4.เงินค่าคอมมิชชั่น เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ 30%
5.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้ ดังนั้น หากมีการสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกหนี้ก็พอเบาใจได้ส่วนหนึ่งว่าเงินจำนวนนี้จะยังเป็นเงินสะสมที่สามารถนำมาใช้จ่ายในอนาคตหลังเกษียณได้ค่ะ
6.เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้ค่ะ
นอกจากนี้ หากลูกหนี้มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่ ต้องถือว่าเป็นโชคดีค่ะ เพราะเจ้าหนี้จะไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทไฟแนนซ์ ยังไม่ใช่ของเราค่ะ แต่ถ้าหากเราผ่อนไฟแนนซ์หมดแล้ว กรรมสิทธิ์เป็นของเรา เจ้าหนี้ก็สามารถมายึดได้นะคะ ซึ่งแตกต่างจากการผ่อนบ้านหรือที่ดิน แม้ว่าเราจะยังติดจำนองอยู่ก็ตาม เจ้าหนี้ก็สามารถยึดเพื่อไปขายทอดตลาดได้ค่ะ
ดังนั้น หากเราต้องการใช้จ่ายสบายๆ ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะโดนเจ้าหนี้ยึด หรืออายัดอะไรเราบ้าง ก็ต้องไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวจนทำให้มีเจ้าหนี้ตามทวงยาวเป็นหางว่าว เรียกว่า “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” นอกเหนือจากการไม่มีโรคนั่นเองค่ะ และเมื่อชำระหนี้หมดแล้ว แนะนำให้รักษาประวัติให้ดี ไม่ก่อหนี้ใหม่ในช่วง 3 ปีหลังเคลียร์หนี้นะคะ จะได้มีประวัติสวยๆ ในเครดิตบูโร