เจ้าอยู่หัว-พลเอกเปรม-และกองทัพกลายมาเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง พลเอกเปรมผูกการกลับมาเป็นนายกฯ ของเขากับงานเฉลิมฉลองการครองราชย์นานที่สุด แทนที่จะลงเลือกตั้ง เขากลับทึกทักว่าการจัดงานเฉลิมฉลองโดยผูกตัวเขากับบารมีของวัง เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว แต่ในเดือนมิถุนายน นักวิชาการชั้นนำ 99 คนได้ลงชื่อถวายฎีการ้องเรียนไปยังพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหาพลเอกเปรมว่าแอบอ้างวังและใช้กองทัพข่มขู่เพื่อรักษาอำนาจของตนต่อไป พวกเขาใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง และอธิบายว่าการกระทำของพวกเขาเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว และพวกเขากลัวว่ากองทัพกำลังทำลายกระบวนการประชาธิปไตย แต่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาอยู่ที่การที่วังอนุญาตให้เปรมอ้างการสนับสนุนจากพระเจ้าอยู่หัว พวกเขาหาญกล้าเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลหยุดแทรกแซงระบอบประชาธิปไตย พลเอกเปรมปัดพวกเขาออกไปชั่วครู่ขณะนำการเฉลิมฉลองสถิติการครองราชย์นาน 42 ปี 23 วันของในหลวงภูมิพล ซึ่งนานกว่าใครทั้งในต้นโกสินทร์ อยุธยาหรือสุโขทัย หลังจากพิธีรำลึกบุรพกษัตริย์ราชวงศ์จักรีในพระบรมมหาราชวังแล้ว พลเอกเปรมก็ตามเสด็จพระราชวงศ์ไปอยุธยาเพื่อสักการะพระมหากษัตริย์อยุธยาทั้ง 33 พระองค์ ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเคย ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก พลเอกเปรมวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งประสานงานพรรคต่างๆ เพื่อนั่งเก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง แต่การที่เขาปฏิเสธที่จะลงเลือกตั้งกับประเด็นหลักการประชาธิปไตยทั่วไปกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ และความคิดที่นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งก็จุดติดในหมู่นักการเมืองและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ประท้วงราวหนึ่งพันคนเดินขบวนไปที่หน้าบ้านพลเอกเปรม ผู้นำพรรคการเมืองและคนอื่นๆ ก็เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้นายกฯ มาจากสส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง ขณะที่ทั้งประเทศกำลังจดจ่อรอดูว่าในหลวงภูมิพลจะเสด็จลงมาอุ้มพลเอกเปรมอีกหรือไม่ พลเอกเปรมตัดสินใจถอนตัว ทำให้ในหลวงภูมิพลไม่ต้องเปลืองตัวในการเลือกระหว่างประชาชนกับผู้นำกองทัพ นายกฯ ส้มหล่นได้แก่พลตรีชาติชาย ชุณหวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้ที่นั่งมากที่สุด เขาเป็นอดีตทหารม้า นักการทูตนักธุรกิจที่ลื่นไหล และลูกชายของจอมพลผิณ ชุณหะว้ณผู้อื้อฉาวในยุคทศวรรษ 2490
ทำไมประชาชนจึงไม่เห็นคุณค่าของรัฐบาลทหารพระราชทานของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล คำตอบที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วก็คือ พลเอกเปรมนั้น แทบไม่ทำอะไรเลยตลอดแปดปี นอกจากปกป้องเก้าอี้ของตนและราชบัลลังก์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล รัฐบาลพลเอกเปรมได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เลวน้อยไปกว่ารัฐบาลพลเรือนเลยในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจบาตรใหญ่และเช้าชามเย็นชาม ปัญหาสังคมอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ กรุงเทพฯที่กำลังเติบโตเนื่องมาจากการลงทุนของต่างชาติ แต่ในชนบท ความยากจนยังปรากฏอยู่ที่ไป ในปี 2531 ครอบครัวไทยมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนที่เป็นทางการ แทบไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นจากทศวรรษก่อนหน้า คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง ในปี2531 คนไทยที่รวยที่สุด 20เปอร์เซ็นต์แรกมีรายได้ 56 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ 20เปอร์เซ็นต์ที่จนที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขในปี 2519 ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม คือ 49 เปอร์เซ็นต์ที่จนที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้แค่ 6 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาชาวนาไร้ที่ทำกินยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในปี 2531 ครอบครัวชาวนาห้าแสนครอบครัวไม่มีที่ทำกิน คิดเป็นสัดส่วนราวสิบเปอร์เซ็นต์ของครอบครัวชาวนาทั้งหมด และอีกห้าแสนครอบครัวที่มีที่ทำกินไม่ถึง 10 ไร่ ส่วนใหญ่แล้วไม่พอกิน นอกจากนี้คนไทยหลายล้านคนอยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในเขตป่าเสื่อมโทรม ขณะที่มีการทุ่มเทเงินงบประมาณให้กองทัพ
แต่บริการสาธารณสุขและการศึกษาก็ตามไม่ทันการเติบโตของจำนวนประชากร ระดับประถมและมัธยมมีอัตราเลิกเรียนสูง การศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่ำ คนไทยมากกว่าหนึ่งในห้าจบไม่เกินประถมสี่ เรียนแค่เพียงให้รู้ว่าต้องเคารพพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชการเท่านั้น ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นหายนะ พื้นที่ที่ควรเป็นป่าสงวนหลายล้านไร่ถูกตัดขายด้วยอิทธิพลทางการเมืองและการทหาร ขณะที่แหล่งน้ำและอากาศก็เกิดมลภาวะอย่างรุนแรง อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น การค้ายาเสพติดสร้างรายได้มากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งๆที่มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าพลเอกเปรมเป็นคนมือสะอาด แต่ก็ต้องเลี้ยงสมุนและบริวารที่เอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มีรัฐมนตรีขี้โกงอย่างนายบรรหารที่เป็นคนโปรดแล้ว พลเอกเปรมยังให้พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลามือขวาด้านความมั่นคงของเขาเข้ายึดครองพรรคกิจสังคมโดยไปเป็นพวกกับเจ้าพ่อชั้นนำของประเทศสองคนคือ กำนั้นเป๊าะแห่งชลบุรีกับชัช เตาปูนเจ้าของบ่อนเตาปูน ซึ่งมีตำแหน่งในพรรคทั้งคู่ ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นการแตกแยกและการทุจริตในกองทัพภายใต้การดูแลของพลเอกเปรม แทนที่กองทัพจะเล็กลงและเป็นมืออาชีพมากขึ้น บรรดานายทหารเอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นจนพากันอิ่มหมีพีมันและย่อหย่อนความสามารถในการทหารสมัยใหม่ ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง วงการธุรกิจและแม้แต่วงการอาชญากรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งขยายความแตกแยกและความหย่อนยานทางวินัยซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา โดยรวมแล้ว สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากกำลังตั้งข้อเรียกร้องที่นักการเมืองพันธุ์เก่าไม่คุ้นเคย การที่ในหลวงภูมิพลจะทรงมองเรื่องนี้ไม่ออกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ เพราะบรรดาที่ปรึกษาของพระองค์ส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่า พระองค์จึงต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์ในการวิเคราะห์ ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามหรือแย้งพระเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่หมอบกราบแซ่ซร้องสดุดีความคิดของในหลวงอย่างเดียว บริวารใกล้ชิดกราบทูลพระองค์ว่าพลังประชาชนใหม่นี้ก็เป็นเหมือนพคท. เป็นภัยคุกคามต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มนฟังดูแท้จริงอย่างมากสำหรับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ที่ยังคงให้ท้ายกองทัพในการอ้างอำนาจครอบงำเหนือการเมืองต่อไป
++++++++++++++++++++