วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์


-->ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติ ขณะประทับอยู่ที่อังกฤษ จนสวรรคตที่อังกฤษ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถูกเนรเทศจากสยาม ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียจนสิ้นพระชนม์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย ยุติบทบาททางการเมืองเมื่อพ.ศ. 2481 ในวัยชราป่วยด้วยโรคอัมพาตและถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก พันเอก พระยาทรงสุรเดช อดีต 1 ใน 4 ทหารเสือที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นผู้ที่วางแผนการยึดอำนาจทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เป็น ถูกกล่าวหาว่าคิดก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในกบฏพระยาทรงสุรเดช ท่านถูกเนรเทศไปอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จนถึงแก่กรรมด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ที่คุณหมอ CVT วินิจฉัยว่าเป็นอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย พันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ หนึ่งในสี่ทหารเสือ ประสบภัยการเมืองต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนังและสิงคโปร์ กลับมาเมืองไทยหลังสงครามโลก ได้เป็นวุฒิสมาชิก บั้นปลายหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรม พันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ พ้นจากการเมืองไทยไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน แต่ถูกจับไปเข้าค่ายเชลยในไซบีเรียช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่รอดตายกลับมาประเทศไทยได้ ได้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับจากพิษสุรา จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลี้ภัยการเมืองไปถึงแก่อนิจจกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการพลเรือนของคณะราษฎร์ พ่ายแพ้รัฐบาลจอมพลป. ในคดีกบฏวังหลวงเมื่อรวบรวมกำลังทหารเรือยึดอำนาจจากรัฐบาล ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศจีนและไปถึงแก่กรรมในฝรั่งเศส หลวงกาจสงคราม ผู้ก่อการฯคนหนึ่ง ได้เป็นรัฐบาลของจอมพลป. หลังสงครามโลก ถูกเนรเทศทางการเมืองไปอยู่ฮ่องกงและกลับมาถึงแก่กรรมในประเทศไทย
-->หลังจากที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑” และได้นำกำลังบุกเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นศูนย์บัญชาการชั่วคราวแล้ว พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หัวหน้าฝ่ายทหารของคณะราษฎรและเสนาธิการสูงสุดของการยึดอำนาจครั้งนั้น ได้ออกคำสั่งให้ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังไปจับกุมบุคคลสำคัญ ที่รวมถึง จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นเสมือนพระรัชทายาทเบอร์ ๑ ผู้ทรงอำนาจที่สุด รองแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มาควบคุมไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน สำหรับต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล ในขณะนั้น พระประศาสน์พิทยายุทธ และ หลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี) จึงนำกำลังทหารและรถหุ้มเกราะบุกเข้าไปในวังบางขุนพรหม โดยเกิดปะทะกันเพียงเล็กน้อย จากบันทึกเรื่อง “แผนการปฏิวัติ” ของเจ้าตัว กล่าวความในตอนนี้ไว้ว่า “......ขบวนรถแล่นเข้าสู่วังบางขุนพรหมตรงไปที่พระตำหนักใหญ่ รถของเรากำลังแล่นไปอย่างเสียงดังเอิกเกริก ในขณะนั้นเองมีนายตำรวจผู้หนึ่งวิ่งออกมาจากพระตำหนัก ซึ่งทราบภายหลังว่าคือพระอาสาพลนิกร ชักปืนพกออกยิงรัวมายังข้าพเจ้า ปัง ปัง แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกหวั่นไหวประการใดนัก ลูกศิษย์ข้าพเจ้าที่อยู่ในรถยนต์หุ้มเกราะก็ยิงปืนกลสวนควันออกไป เสียงปรุ้ม ปรุ้ม แต่เรายิงขึ้นไปบนฟ้า ไม่ได้มุ่งหมายจะให้เป็นอันตรายแก่ผู้ใด นอกจากจะแสดงว่านี่เป็นเรื่องใหญ่โตเสียแล้ว จะมาทำเล่นเล็กๆ น้อยๆ กันต่อไป ไม่ได้ พระอาสาพลนิกรก็วิ่งหลบหนีหายไปทางเบื้องหลังพระที่นั่ง ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารในรถกระโดดลงขยายแถวเรียงรายไปตามสนามหญ้าหน้าพระตำหนักวังทันที และสั่งให้นายร้อยตำรวจโทผู้บังคับกองขึ้นไปทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ลงมาเจรจาการเมืองกัน ณ เบื้องล่าง ให้เวลา ๑๕ นาที นายตำรวจผู้นั้นก็รับคำสั่งเงียบหายขึ้นพระตำหนักไป..........สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ทรงจนพระทัย มิรู้จะทรงปฏิบัติอย่างไร ถ้าพระองค์ทรงสั่งให้เอาปืนกลระดมยิงพวกเรา พวกเราก็คงจะตายลงหลายคน แต่เมื่อเราหลบบังและทำการต่อสู้ พวกเราก็คงจะจับกุมพระองค์จนได้ และถ้าไปก่อกวนให้เกิดความโกรธขึ้นเช่นนั้น ใครเล่าจะรับผิดชอบได้ว่าจะ ไม่เกิดการฆ่าฟันกันประดุจโรงฆ่าสัตว์ พระตำหนักก็อาจจะถูกเผาไฟเป็นจุณไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าพระองค์ทรงขัดขืนมิเสด็จลงมา ก็คงจะทำความลำบากให้แก่เราไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม โชคบันดาลให้เราอย่างประหลาดที่ไม่แต่พระองค์เท่านั้นที่เสด็จลงมา แต่กลับพาทุกๆ คนลงมาให้เราโดยบังเอิญ หมดเวลา ๑๕ นาทีแล้ว ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารเคลื่อนที่เข้าล้อมวังทันที เมื่อทหารของเราพร้อมสรรพด้วยอาวุธ ขยายแถวเดินเข้าสู่พระตำหนักเบื้องหลัง ก็ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ และบริพารตั้งร้อยคับคั่งอยู่ที่ท่าน้ำเตรียมหนีทางเรือ แต่เนื่องจากความรอบคอบของฝ่ายเรา เรือรบของฝ่ายเราได้ติดเครื่องบรรจุกระสุนปืนในอาการที่จะเคลื่อนไหวได้ในทันทีอยู่ ณ เบื้องหน้า ทำให้ทรงงงงัน ไม่มีใครกล้าจะลงเรือหนี รีๆ รอๆ อยู่ด้วยความลังเลใจ ก็พอดีทหารของข้าพเจ้าไปควบคุมในลักษณาการเอาจริงเอาจังที่สุด ณ เบื้องหน้าเสียแล้ว ฝ่ายพระองค์ท่านก็เตรียมพร้อม พวกผู้ชายมีปืนสั้นบรรจุกระสุนอยู่พร้อมแล้ว พร้อมที่จะแสดงความจงรักภักดีพลีชีพเพื่อเจ้านายที่รักของตน ฝ่ายเราก็มั่นใจในอุดมคติของเราว่า เราจะสร้างลัทธิประชาธิปไตยให้ชาติไทยให้ได้ในครั้งนี้ ต่างคนก็ต่างยินดีพลีชีพเพื่ออุดมคติของตน ที่มา...จากบล็อกของนายกรณ์ จาติกวณิช ... ในสภาพหน้าสิ่วหน้าขวานที่จะนองเลือดกันหรือไม่ ขณะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าข้าพเจ้ากระทำไปโดยความขี้ขลาด หรือขาดความเป็นสุภาพบุรุษอันแท้จริงเพียงนิดเดียว ก็จะต้องเกิดการนองเลือดเป็นอย่างแน่นอน แต่ข้าพเจ้าใช้ตัวของข้าพเจ้าเองเข้ากู้สถานการณ์ในขณะนั้น และใช้ความคิดที่เผอิญดลใจเกิดขึ้นในบัดดลเข้ากระทำการโดยเด็ดขาด ซึ่งใคร จะหาว่าข้าพเจ้าทำการไม่ฉลาด ถ้าพลาดพลั้งข้าพเจ้าตายลงแล้ว จะมีใครทำการแทนข้าพเจ้าได้ในสถานการณ์เช่นนั้นในบัดนั้นก็ตามที ข้าพเจ้าก็มีเหตุผลของข้าพเจ้าเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าถวายเกียรติยศแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ว่าทรงสูงดีพอที่ข้าพเจ้าจะเทิดเกียรติของพระองค์ไว้เหนือชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเอาชีวิตข้าพเจ้าแลกกับการไม่นองเลือดให้จงได้ ถ้าหากจะเกิดการนองเลือดขึ้น ก็ขอให้ฝ่ายพระองค์เป็นผู้ลงมือก่อนเถิด ใครใช้อาวุธทำร้ายก่อน ขอให้เป็นผู้รับผิดชอบในการนองเลือดครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดดังนั้นแล้ว ก็สั่งทหารด้วยเสียงอันดังว่า “อย่ายิงจนกว่าฉันจะสั่งให้ยิงหรือฉันเป็นอันตราย” คำสั่งของข้าพเจ้าเป็นการสั่งแบบจิตวิทยา ที่สะกดกระบอกปืนของทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีใครกล้าลั่นปืนออกมาได้ เพราะฝ่ายข้าพเจ้านั้นจะไม่ลั่นไกยิงจนกว่าจะสั่ง และฝ่ายท่านถ้ายิงเราแล้วก็จะเป็นอันตราย ทั้งหมดด้วยปืนนัดนั้นของฝ่ายท่านเอง เอาซี ข้าพเจ้าตายท่านตายหมด ท่ามกลางบริวารนับร้อยผู้จงรักภักดีของพระองค์ พร้อมด้วยอธิบดีกรมตำรวจและนายตำรวจหลายนาย ประกอบด้วยชายฉกรรจ์อยู่เบื้องหน้า ต่างคนมีอาวุธเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเจ้านายที่รักของตนสุดความสามารถ ณ เบื้องหลังมีพระชายาและสนมกำนัลยืนอกสั่นขวัญหายอยู่มากมาย หรือกล่าวอย่างสั้นๆ คนในวังทั้งหมดมาอยู่พร้อมหน้าข้าพเจ้า ในบัดนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงยืนสง่าน่าเกรงขามอยู่ ณ เบื้องหน้า ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้า เผชิญพระพักตร์อย่างองอาจ จิตใจมั่นคงเสียเหลือเกิน เพราะเชื่อมั่นในอุดมคติของตน............... ....................“เอ๊ะ” ทรงมีรับสั่ง “อีตาวันก็เป็นกบฏกับเขาด้วยหรือ” “มิได้ ฝ่าพระบาท” ข้าพเจ้ากราบทูลตอบ “เราต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราไม่มีเจตนาสักนิดเดียวที่จะทำลายกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และมิเป็นการสมควรที่จะกราบทูลเรื่องอันเป็นความลับต่อฝ่าพระบาทด้วยเสียงอันดังต่อหน้าธารกำนัล ฉะนั้นเกล้ากระหม่อม ขอเชิญเสด็จไปเจรจาการเมืองเรื่องสำคัญอันลับอย่างยิ่งนี้ที่หน้าสนามหญ้าพระตำหนักพ่ะย่ะค่ะ” “ก็ได้” ทรงพระดำรัสขึ้นในที่สุด เป็นการเสี่ยงภัยครั้งที่ ๒ เพราะว่าข้าพเจ้าผู้เดียวเดินออกห่างไปจากทหารของข้าพเจ้า พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งมีพระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นองครักษ์ตามไปในลักษณะ ๒ ต่อ ๑ และข้าพเจ้าตกลงใจที่จะไม่ใช้อาวุธปืนของข้าพเจ้าต่อหน้าเจ้านายที่ข้าพเจ้าเคารพอย่างที่สุดนี้ให้เป็นการเสียมารยาทเป็นอันขาด ส่วนพระยาอธิกรณ์ประกาศนั้น ใครจะไปทราบใจท่านได้ แต่ความจริงการกระทำดังนั้นก็มีเหตุผลอยู่ เพราะ มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเกิดการโต้เถียงขึ้น จะเป็นการก่อให้คนเป็นจำนวนมากเกิดโทสะรุนแรงขึ้น และอาจจะเกิดการยิงกันขึ้นด้วยอารมณ์โทสะก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเราพูดกันโดยอาการสงบในระยะไกล คนอื่นไม่ได้ยินคำพูดของเราแล้ว ก็ไม่เป็นการทำให้ชนส่วนมากมีโทสะจิตขึ้น เรา ๒-๓ คน รับผิดชอบที่จะไม่ใช้กำลังกันไม่ได้หรือ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว สมควรที่จะฟังเหตุฟังผล กันได้ ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจะต้องเสียชีวิตเพราะให้เกียรติแก่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ ในครั้งนี้ก็ตามทีเถิด แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังเป็นการล่อแหลมต่ออันตรายที่สุด เพราะว่าพระยาอธิกรณ์ประกาศหาได้รู้สึกอย่างข้าพเจ้าไม่ ซึ่งจะได้เห็นในระยะต่อไป ในการเจรจาตอนนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ คงจะประมาณข้าพเจ้าว่าเป็นกบฏอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่าข้าพเจ้ามิได้เป็นกบฏ แต่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงแบบการปกครองของชาติไทยให้ทันสมัยกับประเทศที่เจริญแล้วในโลก และเราไม่มีเจตนาอันใดที่จะทำร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพระราชทรัพย์ประการใดเลย อันนี้เป็นความบริสุทธิ์แท้จริงแห่งดวงใจข้าพเจ้า และเนื่องด้วยเราไม่ต้องการ ให้มีการนองเลือดขึ้นในระหว่างคนไทยด้วยกัน จึงจำเป็นต้องทูลเชิญเสด็จพระองค์ไปเป็นประกัน แล้วจะส่งคนไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล เพื่อกราบทูลเชิญเสด็จฯ มายังพระนคร และขอพระราชทาน รัฐธรรมนูญต่อไป พระองค์ไม่ทรงฟังเหตุฟังผล ไม่ทรงยอมเสด็จไปกับเรา ข้าพเจ้าไม่ยอมพระองค์เป็นอันขาด ในขณะที่เรากำลังเจรจากันแรงขึ้นนี้เอง พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ควักปืนพกออกเงื้อฟาดลงจะยิงข้าพเจ้าในทันที ข้าพเจ้าแลเห็น แต่ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมควักอาวุธออกมาต่อสู้กันหน้าพระพักตร์เจ้านายที่เคารพอย่างยิ่งของเราเป็นอันขาด ถ้าใครกระทำ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ในชั่วเวลาพริบตาเดียว คุณหลวงนิเทศกลกิจกระโดดเข้าเตะมือพระยาอธิกรณ์ประกาศ ปืนกระเด็นตกลงยังพื้นดิน พวกเรา ๒-๓ คน ก็ฮือกันเข้ามาเก็บปืนไปได้ ใครๆ ก็เห็นภาพอันน่าตื่นเต้นที่สุดในตอนนี้ พริบตาเดียวแห่งชีวิต อีกครั้งหนึ่ง การกระทำของพระยาอธิกรณ์ประกาศเปรียบเหมือนพระผู้เป็นเจ้าให้โอกาสแก่เรา เพราะในขณะนั้นเราต่างก็มีอาวุธพร้อมสรรพอยู่ในอาการเตรียมพร้อม ไม่มีเหตุผลอันใดแล้ว ใครก็ไม่อาจปลดอาวุธกันได้ แต่บัดนี้พระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นฝ่ายผิด บังอาจใช้อาวุธทำร้ายในขณะที่เราเจรจากันด้วยสันติวิธี ความคิดเด็ดขาดอันหนึ่งผุดขึ้นในสมองข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ก้าวเท้าเข้าไปหน้าทหารท่ามกลางที่คนทั้งหลายกำลังตกตะลึงต่อภาพอันน่าหวาดเสียวนั้น ข้าพเจ้าแสร้งทำดุอย่างโกรธจัด ร้องสั่งออกไปต่อหน้าทั้งสองฝ่ายว่า “เรากำลังเจรจากันโดยสงบ ทำไมจึงใช้อาวุธลอบทำร้ายกันเช่นนี้ ทหาร ยึดอาวุธให้หมดเดี๋ยวนี้” พอขาดคำ ทหารของข้าพเจ้าก็ ถือปืนในท่าเตรียมยิงเดินแถวตรงเข้ารับอาวุธฝ่ายพระองค์ ส่วนฝ่ายพระองค์นั้น ทุกๆ คนต่างก็ตะลึงและรู้ว่าตนเป็นฝ่ายผิด เพราะหัวหน้าตนจะไปยิงเขาก่อน ต่างก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน นี่แหละ ความยุติธรรมคืออำนาจ ทำให้ทุกๆ คนเข้าใจเหตุผลโดยไม่ต้องอธิบาย เมื่อฝ่ายเราปลดอาวุธฝ่ายพระองค์ท่านได้หมดแล้วเช่นนี้ พระเจ้าบันดาลความสำเร็จให้โดยบังเอิญการนองเลือดน่าจะไม่มีในการปฏิวัติครั้งนี้ ข้าพเจ้าเดินกลับมาเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในขณะนี้ ก็ทรงดำริตกลงพระทัยแล้วดุจกัน พอข้าพเจ้ามาทูลเชิญเสด็จให้ได้ในเดี๋ยวนั้น ก็ทรงร้องว่า “เฮ้ย อีตาวัน ข้าตกลงจะไปให้ แต่ขอขึ้นไปแต่งตัวเสียให้ดีๆ หน่อยนะ” “ขอประทานอภัยโทษ” ข้าพเจ้ากราบทูลด้วยความรู้สึกระแวงว่าอาจจะเป็นกลอุบาย “ไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ” ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้ายอมไม่ได้ในครั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ ถ้าประมาทเลินเล่อปล่อยให้เกิดมีจุดที่จะนองเลือดกันขึ้นได้ โดยปล่อยให้ทรงไปเอาปืนกลลงมายิงพวกเราก็คงจะเกิดการฆ่าฟันกันใหญ่โต พระองค์ท่านคงจะทราบความคิดของข้าพเจ้าดีจึงทรงเปลี่ยนเรื่อง “เอ็งเอารถดีๆ มารับข้าหน่อยไม่ได้หรือ” ทรงตรัส “โธ่ ฝ่าพระบาท” ข้าพเจ้าทูลตอบ “ในสถานการณ์เช่นนี้ กระหม่อมจะไปหารถดีๆ ที่ไหนมาถวาย เรามาที่นี่มีแต่รถกระบะอย่างนี้ จำเป็นต้องขอเชิญฝ่าพระบาท เสด็จไปกับเกล้ากระหม่อมเช่นนี้” “เอ้า กูจะไปกับมึง” ทรงดำรัสในที่สุด “เฮ้ย อีตาวัน ข้าเอาเมียไปด้วยได้ไหม” “ได้พ่ะย่ะค่ะ เกล้ากระหม่อมไม่ขัดข้อง” ข้าพเจ้ารีบทูลตอบ เพราะไม่มีความสำคัญอะไร สิ่งใดที่ไม่จำเป็นที่จะขัดพระหฤทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่ขัดพระอัธยาศัยเลย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ใน เครื่องฉลองพระองค์เพียงกางเกงจีนกับเสื้อกุยเฮง พร้อมด้วยพระชายา ก็ยินดีเสด็จขึ้นรถกระบะไปกับพวกเรา ข้าพเจ้าดีใจเป็นล้นพ้น สั่งทหารขึ้นรถเป็นการด่วน ขบวนรถของเราก็พากันแล่นออกจากวังบางขุนพรหมตรงไปยังวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นทางที่จะไปบ้านพระยาสีหราชเดโชชัย นายทหารเสือแห่งประเทศไทยในครั้งนั้น” นั่นเป็นฉากเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นที่วังบางขุนพรหมในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปัจจัยตัดสินหลักที่ทอนกำลังของฝ่ายรัฐบาลลง ทำให้พ่ายแพ้ในที่สุด เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาการพระนคร เท่ากับทรงสำเร็จราชการในเขตพระนครทั้งหมด ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเสด็จอยู่ในพระนคร เมื่อทรงยอมให้ถูกควบคุมพระองค์ ก็เท่ากับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในเขตพระนครปราศจากหัวหน้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้ขัดขืน พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้แสดงบทบาทสำคัญในเช้าวันนั้นด้วย แม้บทบาทของเขาจะถูกประเมินโดยแกนนำฝ่ายคณะราษฎรว่าเป็น “จุดอ่อน” ของฝ่ายเจ้า เพราะตัดสินใจทำการแบบไม่รอบคอบ ทำให้สถานการณ์ของฝ่ายเจ้าตกเป็นรองในทันที แต่ในสายตาของฝ่ายเจ้า พระบรมวงศานุวงศ์ และเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายแล้ว การกระทำของพระยาอธิกรณ์ประกาศเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างที่สุด ยอมเอาแม้กระทั่งชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อปกป้องสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ในเช้าวันนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย จึงได้นำมุมมองของฝ่ายตรงข้ามมาให้รับรู้กันด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันนั้น ในมุมมองของฝ่ายเจ้าที่ถูกบุกเข้าไปจับกุมถึงวังบางขุนพรหมว่า “........ถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตอนสาง ข้าพเจ้านอนอยู่ในห้องซึ่งมองเห็นแม่น้ำ ถูกปลุกขึ้นเพราะเสียงปืนหลายนัด ลุกขึ้นไปที่เฉลียงเล็กหน้าห้องเห็นเจ๊กคนสวน ๒ คนที่สนามหญ้าใกล้ตำหนัก จึงตะโกนถามว่า “ใครเข้ามายิงนกถึงนี่” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่ยิงนก” ตอนนี้คำว่า “เจ๊กลุก” (สมัยนั้นมีข่าวลือในหมู่ชาววังบางขุนพรหมว่าคนจีนในไทยจะทำกบฏ---บ.ก.) ซึ่งฝังอยู่ท้ายสมอง ก็โผล่ออกมา ถามไปว่า “เจ๊กเรอะ?” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่เจ๊ก คนไทยทั้งนั้ง ทหารทั้งนั้ง” รู้สึกอายเจ๊กคนสวน ถอยกลับเข้าห้องก็มีมหาดเล็กเข้ามาบอกว่า “ทหารเข้าวังทูนหม่อมเสด็จอยู่ที่ท่าน้ำ เจ้านายเสด็จไปกันแล้ว” ข้าพเจ้าชวนแม่ลงไปตำหนักน้ำ แล้วเดินไปลงอัฒจันทร์หินใหญ่ เร็วเท่าที่แม่จะทำได้ เลี้ยวขวาก็ไปถึงทางลงไปถนน พอถึงระยะที่มองเห็นพ่อ ทรงสนับเพลาขาว ฉลองพระองค์ขาวชุดบรรทม ยืนอยู่กับคนอีกหลายคน ข้าพเจ้าก็ออกวิ่งจี๋ ทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง ข้าพเจ้าเห็นนายตำรวจ ๒ คนยืนอยู่กับพ่อ คนหนึ่งรู้จักว่าเจ้าคุณอธิกรณ์ฯ อีกคนหนึ่งผู้ใหญ่กว่า ทราบภายหลังว่าชื่อเจ้าคุณธรนินทร์ มีเด็จย่า น้องๆ และหม่อมสมพันธ์ รายล้อมอยู่ ต่อมาแม่ก็มาเข้ากองด้วย........ ความจริงนั้น เจ้าคุณตำรวจทูลพ่อให้เสด็จลงเรือไฟลำเล็กซึ่งเราก็เพิ่งเห็นว่าจอดอยู่หน้าโป๊ะ พ่อสั่นพระเศียร เจ้าคุณตำรวจก็เลยหันมาบอกว่าขอให้เจ้านาย ผู้หญิง เสด็จลงไปก่อน โดยความสัตย์จริงแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวมากมายอะไร หรือจะตกใจจนชาก็ไม่ทราบ เขาคะยั้นคะยอก็เลยเดินลงสะพานน้ำตามๆ กันไปพลางเหลียวหลังมาดูพ่อ เห็นทรงยืนเฉย ก็เลยกลับขึ้นไปยืนอยู่ด้วยอย่างเดิม ได้ยินรับสั่งกับเจ้าคุณตำรวจว่า “ฉันจะไปได้ยังไง ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย” อีกครู่เดียวพวกทหารถือปืนยาวก็เดินลงมาเต็มสะพาน แล้วขนาบตัวพวกเราทุกคน แม้แต่เด็จย่า (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) ซึ่งพระชันษา ๖๘ แล้ว และสมัยนั้นนับว่าเป็นคนแก่มากแล้ว ก็มีหอกปลายปืนจ่อเดิน ขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผยทั้งสองข้าง ส่วนพ่อนั้นมีทหารถือปืนกลเล็กๆ จ่อบั้นพระองค์ พวกเราไม่เคยเห็นทั้งนายทหารทั้งปืนกลนี้มาก่อนเลย ต่อมาได้เห็นรูปหมู่ผู้พิชิตทั้งกอง มีชื่อบอกไว้ทุกคน จึงทราบว่าชื่อ “ทวน วิชัยขัตคะ”............. ขอกล่าวถึงต้นเหตุที่ต้องถูกจับ พ่อได้ทรงเล่าประทานภายหลังว่าก่อนจะเกิดเหตุ (นานเท่าไรข้าพเจ้าลืมแล้ว) ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษาอภิรัฐมนตรี และนายสตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศเป็นรายตัว ถึงเรื่องจะพระราชทาน รัฐธรรมนูญการปกครอง พ่อได้กราบบังคมทูลว่า ทรงเห็นว่าราษฎร (ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่าเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว) (อนึ่งบันทึกนี้ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔-บ.ก.) ยังไม่มีการศึกษาดีพอ ที่อ่านหนังสือไม่ออกก็ยังมีอีกมากมายนัก จะตกเป็นเบี้ยล่างให้คนมีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ ที่ไม่สุจริตเอาเปรียบได้ เมื่อมีการประชุมก็จะต้องมีการโต้แย้งกัน ซึ่งเกรงว่าจะเป็นไปอย่างรุนแรงถึงหยาบคาย ซึ่งท่านรู้สึกว่าจะทนไม่ได้ ตามความคิดของท่านเห็นว่าควรจะค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกสอนข้าราชการเสียก่อน เช่นที่ได้ตั้งสหกรณ์ขึ้นแล้วเป็นต้น แต่ถ้าหากทรงเห็นว่าถึงเวลาสมควรแล้วที่จะพระราชทาน ก็แล้วแต่พระราชหฤทัย ส่วนพระองค์ท่านนั้น ขอกราบถวายบังคมลาพักผ่อนนอนบ้านเสียที เพราะได้ทำราชการมาถึง ๓ รัชกาลแล้ว..........” พระยาอธิกรณ์ประกาศ ที่ชักปืนออกมาจะยิงพระประศาสน์พิทยายุทธ หรือที่พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ทรงเรียกว่า “เจ้าคุณตำรวจ” คนนั้น ก็คือ พลโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ หรือ “หลุย จาติกวณิช” หรือชื่อเดิม “ซอเทียนหลุย” ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของ กรณ์ จาติกวณิช เจ้าของบล็อกนี้ ท่านเป็นอธิบดีกรมตำรวจที่เคยเข้าเฝ้าถวายรายชื่อผู้ที่จะคิด“กบฎ”ที่ตำรวจสืบทราบมาได้สองสามวันก่อนปฏิบัติการ แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทอดพระเนตรรายชื่อเหล่านั้นแล้วมิทรงเชื่อ ด้วยเห็นว่าล้วนเป็นผู้ที่เจ้านายทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมาแต่เล็กแต่น้อย เช้าตรู่ของวันปฏิบัติการท่านเข้าวังแต่ก่อนรุ่งสางเพื่อจะทูลยืนยันว่า เขาเอาแน่ แต่ก็สายเกินการณ์ไปเสียแล้ว..ที่มา...จากบล็อกของนายกรณ์ จาติกวณิช ... พระประศาสน์อีกคนหนึ่ง ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลฯหมายหัว พระยาพหลขอไว้ให้ไปเป็นทูตในเยอรมันนั้น ความจริงคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศให้ไปเป็นฑูตทหารที่เบอร์ลิน และได้อยู่ร่วมชะตากรรมจนวันที่กรุงเบอร์ลินแตกจากน้ำมือของกองทหารรัสเซีย บันทึกเรื่องนี้เอามาจากข้อเขียนของบุตรหลานท่านเอง น่าจะผิดเพี้ยนน้อยที่สุด (จากหนังสือเรื่อง ..เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือ ผู้วางแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดย พันเอก(พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ) "สว่าง รตะพันธุ์" คนขับรถประจำตัวคุณป๋า(พระประศาสน์ฯ)มานานนมได้เล่าเรื่องให้ฟังว่า วันหนึ่งมีคนแปลกหน้ามาขอพบคุณป๋า เมื่อเขานำเข้าไปพบแล้วได้สังเกตว่า เขาผู้นั้นไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับคุณป๋า และยังได้เห็นคนผู้นั้นล้วงกระเป๋าหยิบกล่องไม้ขีดไฟออกมายื่นให้ท่านอย่างระวัดระวังไม่ให้ผู้อื่นเห็น เมื่อแขกแปลกหน้ากลับไปแล้วเข้าใจว่าคุณป๋าคงจะได้เปิดกล่องไม้ขีดไฟนั้น ซึ่งมีแต่สำลีกับกระดาษชิ้นเล็ก ๆ อยู่ชิ้นเดียว" "...จึงพอสันนิษฐานเอาได้ว่า เบื้องหลังของกล่องไม้ขีดไฟนั้นผู้ส่งมาให้ต้องเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อนร่วมน้ำสาบานคนหนึ่ง ในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง คงจะได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณป๋า ในเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วกับพระยาทรงสุรเดชและพระยาฤทธิ์อัคเนย์...จึงอาจจเขียนจดหมายสั้น ๆ ยัดมาในกล่องไม้ขีดไฟ ขอให้คุณป๋ารีบเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศเสียก่อนที่จะต้องถูกปลดจากราชการอย่างน่าเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศท่านจะได้เสนอแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัคราชฑูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินถิ่นที่คุณป๋าถนัด ขอให้รับจัดกระเป๋า มีเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นต้องติดตัวไปลงเรือยนต์เล็กหน้าทำเนียบบท่าช้างเวลา 05.00 น. เพื่อจะได้รีบขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง ซึ่งทางหลวงประดิษฐ์ฯจะได้รีบดำเนินการแต่งตัวและรีบจัดส่งสารตราตั้งให้ต่อไป แล้วการดำเนินการแต่งตั้งก็สำเร็จลงอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เมื่อหลวงประดิษฐ์ได้ติดต่อพร้อมกับแจ้งให้คุณป๋าทราบผลเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเมื่อได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีแล้วคุณป๋าและครอบครัวก็ไม่ต้องลักลอบไปลงเรือยนต์เล็ก หากเดินขึ้นเรือเดินสมุทร ณ ท่าวัดพระยาไกรไปอย่างสง่าผ่าเผย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 ..ที่มา.. thaijustice.com “....ตอนครอบครัวเราย้ายไปอยู่ที่เยอรมันนีนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้ว ครอบครัวของเราก็ได้รับความกระทบกระเทือนด้วย คุณป๋าส่งผมไปเรียนที่สวิส และได้ส่งคุณแม่ก้บพี่สาวผมไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ส่วนท่านต้องทำหน้าที่ทูตที่เบอร์ลินต่อไป กระทั่งสหภาพโซเวียตส่งกองทัพบุกเข้ากรุงเบอร์ลิน และกวาดจับทุกคนเป็นเชลย รวมทั้งคุณป๋าด้วย แล้วส่งไปอยู่ค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโคว์ ซึ่งคุณป๋าเป็นหนึ่งในคนไทยสองคนที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมอันทารุณที่คุกรัสเซียนี้ ภายหลังคุณป๋าได้ให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ผมขอคัดมาบางตอน คือ.... “....การต่อสู้เป็นเรื่องหนักแก่ชีวิตแก่ข้าพเจ้าอย่างเหลือทน ความหนาวในรัสเซียขณะนี้กำลังหนาวจัด ควมเยือกเย็นของอากาศถึงขนาด 40 ดีกรีใต้ศูนย์ ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยน้ำแข็ง เท่ากับว่าเรานอนกันอยู่บนกองน้ำแข็ง ในโกดังน้ำแข็งชัด ๆ ข้าพเจ้าทนทานต่ออากาศเช่นนี้ไม่ไหว ร้ายแรงขนาดนี้แล้ว ยังขาดเชื้อเพลิงสำหรับบำบัดเสียอีก ข้าพเจ้ามีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว จะไปช่วยอะไรได้เล่า...ข้าพเจ้าสวมโอเวอร์โค้ทไปนั่งอยู่เช้าวันหนึ่ง หนาวสิ้นดี จนต้วแทบจะแข็งทื่อไปตามน้ำแข็ง ซึ่งเต็มไปน้ำแข็งทั้งส้วม กระดาษชำระให้หาทั้งค่ายก็หาไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องงัดเอาซองบุหรี่เก่า ๆ ขึ้นมาใช้แทน ภายหลังก็เคยชิน หนัก ๆ เข้าอ้ายซองบุหรี่ก็หมด ข้าพเจ้าต้องแอบตัดชายผ้าห่มไปทีละชิ้น ทั้ง ๆ ที่ผ้าห่มนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเป็นอย่างมากเพียงใด ในท่ามกลางอากาศที่หนาวที่สุดในโลก อย่างประเทศรัสเซีย...” คุณป๋าอยู่ในคุกรัสเซียนานถึง 225 วัน หรือ 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว เมื่อราวปลายเดือน ม.ค.พ.ศ.2489 ท่านเดินทางโดยรัสไฟสายทรานส์ไซบีเรียมารที่เมืองโอเดสสา เพื่อรอขึ้นเรือมายังกรุงสต๊อกโฮล์ม แล้วแจ้งข่าวไปยังกาชาดสากล ให้ติดต่อมาย้งสถานทูตไทยในสวิส เพื่อให้ผมเดินทางไปสมทบ. เมื่อผมพบคุณป๋า ได้เห็นสภาพร่างกายของท่านแล้ว สงสารมาก ผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง หน้าตาซูบตอบ ผมตระหนักดีว่า ท่านได้รับความลำบากยากเข็ญเพียงไร แล้วเรา 2 คนก็ลงเรือสินค้าที่เดินทางเที่ยวแรกจากสวีเดนมาสิงคโปร์ แล้วต่อเรือเข้ามายังกรุงเทพฯ..... คุณป๋ากลับมาเมืองไทยในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน....ไม่มีเงินทอง บ้านช่องดี ๆ ก็ไม่มีอยู่ ท่านกับผมต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณป๋าทั้งหมด ท่านไม่เคยปริปากพูดบ่นอะไรให้ลูกหลานฟังเลย ท่านคงเก็บความรู้สึกทั้งหมดไว้เอง ในบั้นปลายชีวิต ท่านรับราชการเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และกลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และสิ้นชีพไป....” ชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธลำบากแสนสาหัสในเบอร์ลินช่วงที่สัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก พระประศาสน์พิทยายุทธถูกจับเข้าคุกเชลยในไซบีเรีย กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้อย่างหวุดหวิดความตายเต็มที พ.อ.สมพงศ์-นงลักษณ์ พิศาลสรกิจ เป็นบุตรสาวและบุตรเขยของพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือในการปฏิวัติ 2475 ซึ่งได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเณย์ พ.อ.(พิเศษ) สมพงศ์อายุ 92 แล้ว แต่ยังความจำดี เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ "เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ" ร่วมกับพี่น้องของภรรยา ตีพิมพ์เมื่อปี 2545 พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหารเสนาธิการ เป็นผู้ที่ร่วมกับพระยาพหล พระยาทรง ไปนำกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ออกมาร่วมปฏิวัติ ซึ่งใช้ทั้งจิตวิทยาและความรู้จักนายทหารที่เป็นลูกศิษย์ ทำให้การปฏิวัติ 2475 สำเร็จลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นยังเป็นผู้นำนักเรียนนายร้อย ร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม ไปจับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ พระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาเสนาสงคราม ซึ่งพระประศาสน์เขียนไว้ว่า กรมพระนครสวรรค์ คือ "เจ้านายที่เคารพอย่างยิ่ง" แต่ก็สามารถเจรจาได้โดยไม่เสียเลือดเนื้ออีกเช่นกัน แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี คณะราษฎรก็เกิดความขัดแย้งกันเองในฝ่ายทหาร พระยาฤทธิ์อัคเณย์ ต้องเดินทางไปพำนักที่สิงคโปร์และปีนัง พระยาทรงสุรเดช ถูกออกจากราชการเมื่อปี 2481 ต้องไปอยู่เวียดนามและกัมพูชาจนเสียชีวิต พระประศาสน์พิทยายุทธ โชคดีกว่าอีก 2 ท่านตรงที่ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบอร์ลิน โดยนายปรีดีที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านเห็นท่าจะไม่ ดี คล้ายๆ ฆ่ากันเองท่านเลยไปหาจอมพล ป. ไปบอกว่าช่วยลงนามแต่งตั้งให้พระประศาสน์ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เบอร์ลิน คือไล่มันออกไปซะ ท่านก็พยักหน้า ลงชื่อ แทนที่จะต้องหลบออกไปลงเรือ ก็กลายเป็นเปิดเผย มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปส่งที่ท่าเรือ ก็เพราะคนดีคนหนึ่งคือหลวงประดิษฐ์" พ.อ.สมพงศ์เล่า ไม่อย่างนั้นจะเป็นแบบพระยาทรงฯใช่ไหม "อะไรสักอย่าง แต่ไปก็ลำบาก ไปอยู่ในที่ที่เขารบ ทิ้งระเบิดทุกวัน วันละหลายหน" "ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นทูตประจำกรุงเบอร์ลิน ท่านก็เอาครอบครัวไปอยู่ที่นั่น ผมสอบได้ที่ 1 ยุวชนทหาร ส่งให้ไปเรียนที่เยอรมนี แล้วเปลี่ยนมาที่อิตาลีแทน เพราะเยอรมนีไม่รับคนต่างชาติเพราะเตรียมเข้าสงคราม ผมเลยไปเรียนที่อิตาลี พอผมเรียนเสร็จก็ได้รับแต่งตั้งทางโทรเลขไปสถานทูตให้เป็นร้อยตรี ผมก็ควรจะต้องเดินทางกลับเมืองไทย แต่เดินทางไม่ได้เกิดสงคราม ทางราชการก็เลยแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงเบอร์ลิน" พ.อ.สมพงศ์เล่าว่าอยู่เบอร์ลินท่ามกลางสงคราม สิ่งสำคัญคือต้องเอาชีวิตให้รอด "เดี๋ยวก็หวอขึ้น อังกฤษ อเมริกันไปทิ้งระเบิดเบอร์ลิน" ที่มา...ไทยโพสต์แทบลอยด์ ซึ่งผู้เขียนได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุตรชายของท่านโดยตรง...