วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475
1.เศรษฐกิจตกต่ำ ในระหว่าง พ.ศ.2472-2474 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สินค้าไทยโดยเฉพาะข้าวราคาตกต่ำ เกิดภาวะขาดแคลนทั่วประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอยู่สภาพคลอนแคลน
รายได้ – รายจ่ายของประเทศ พ.ศ.2463 – 2468
ปีงบประมาณ รายได้ รายจ่าย จ่ายเกิน พ.ศ.246372,500,00082,130,1269,630,126พ.ศ.246477,800,00082,030,5824,232,582พ.ศ.246579,000,00087,416,7138,416,713พ.ศ.246680,000,00090,216,04310,216,043พ.ศ.246784,000,00093,125,6889,125,688พ.ศ.246891,000,00094,875,2383,875,238ที่มา : เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, คณะราษฎร : ความขัดแย้งและรูปแบบเพื่อการครองอำนาจ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 6 (10)
มิถุนายน 2515 หน้า 59 ซึ่งรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 พยายามแก้ไขสถานะการคลังเป็นหลายวิธี เช่น ลาออกจากองค์การมาตรฐานทองคำ กำหนดค่าเงินบาทขึ้นใหม่ แต่ที่สำคัญซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันทั่วไป คือ การเพิ่มภาษีราษฎรและการปลดข้าราชการออกเพื่อรักษาดุลยภาพทางการเงินสร้างความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการที่พูดกันในสมัยนั้นว่า ถูกดุล เป็นอันมาก
2.ความขัดแย้งระหว่างสามัญชนกับพระราชวงศ์ สามัญชนมีการศึกษาสูงขึ้น ที่จบจากต่างประเทศ กลับเข้ามารับราชการก็มีมาก แต่บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์บางพระองค์ทรงไม่สามารถปรับพระองค์ได้ ยังทรงถือเป็นข้าหรือบ่าวอยู่ตามเดิมอยู่ในลักษณะดูหมิ่นดูแคลน ทำให้สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถเกิดน้อยเนื้อต่ำใจ
3.แนวคิดที่ได้รับจากตะวันตก ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
4.การประวิงเวลาพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2475 การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มิอาจพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสสมโภชกรุงครบรอบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 เพราะได้รับการทัดทานจากคณะอภิรัฐมนตรี เป็นการเร่งรัดให้มีการปฏิวัติโดยเร็วยิ่งขึ้น เพราะข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้าเห็นว่า หนทางที่จะได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช้กำลังบังคับนั้นไม่มีแล้ว
เหตุการณ์การปฏิวัติ
กลุ่มผู้ริเริ่ม คือ นักเรียนไทยในฝรั่งเศส ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญตั้งแต่ต้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ กับ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ เมื่อบุคคลเหล่านี้กลับประเทศไทย ก็รวบรวมผู้คนซึ่งมีความคิดอย่างเดียวกัน โดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ดำเนินการด้านพลเรือน และร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ ซึ่งได้เลื่อนยศมีบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้ดำเนินการด้านทหาร เมื่อรวบรวมผู้คนได้จำนวนมากพอสมควรจึงตั้งชื่อ คณะปฏิวัติว่า คณะราษฎร มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และพันโท พระประสาทพิทยยุทธ (วัน ชูถิ่น) เป็นรองหัวหน้า
การปฏิวัติเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยอ้างกับกองทหารต่างๆ ว่าเป็นการซ้อมรบยุทธวิธีอย่างใหม่ เมื่อมาถึงพร้อมกันจึงได้ประกาศว่าเป็นการปฏิวัติ หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศแล้วจึงส่งกำลังเข้าควบคุมสถานที่สำคัญๆ ทางราชการในกรุงเทพฯ และแยกย้ายกันไปถวายอารักขา (ควบคุม) พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและบุคคลสำคัญเพื่อเป็นตัวประกันสำหรับต่อรอง เช่น จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประธานอภิรัฐมนตรีสภา และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการพระนครอยู่พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้กำลังโต้ตอบคณะราษฎรให้เกิดการเสียเลือดเนื้อขึ้น และทรงยินยอม ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบระหว่างนั้นทางฝ่ายคณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนทราบ และได้แถลงหลัก 6 ประการ อันเป็นนโยบายของคณะราษฎรที่จะนำมาใช้บริหารประเทศ
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
1.หลักเอกราช จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
3.หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น
5.หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้
6.หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง
หลังจากนั้นคณะราษฎรได้ทำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงยอมรับตามข้อเสนอของคณะราษฎร เพื่อให้ประเทศชาติมีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศตามที่ทรงมีพระราชปณิธานอยู่แล้ว ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475คณะราษฎรได้นำรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและคณะราษฎรบางคนได้ร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
จากนั้นคณะราษฎรจึงได้คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด ชุดแรกมีจำนวน 14 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินชุดที่สองจำนวน 9 คน เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
ที่มา..mthai..