โดยปกติ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะสอบถามเพื่อนฝูง คนรู้จัก เพื่อขอคำแนะนำในการฝากครรภ์ว่าควรจะฝากที่ไหน แพทย์คนใด แต่ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่า หลังจากคลอดแล้ว แพทย์ที่จะดูแลลูกต่อจากนั้นไม่ใช่สูติแพทย์ท่านเดิมแล้วค่ะ จะต้องเปลี่ยนเป็นกุมารแพทย์ ฉะนั้นก่อนคลอดควรสอบถามและเลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เป็นกุมารแพทย์ ประจำตัวลูกนะคะ (ถ้าก่อนคลอด คุณแม่ไม่ได้ระบุว่าต้องการกุมารแพทย์ท่านใด ทางโรงพยาบาลจะจัดให้เองค่ะ)
แม้ว่าแพทย์และพยาบาลทุกท่านจะพูดตรงกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ก็ไม่ใช่ว่าแพทย์หรือพยาบาลทุกท่านจะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต่อเมื่อกรณีนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากมีปัญหาเมื่อใด ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้หย่านม หรือใช้นมผสมช่วย แพทย์หรือพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างแท้จริง จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาให้คุณแม่ เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดำเนินต่อไปได้
ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตว่าแพทย์หรือพยาบาลท่านนั้น ไม่ได้ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง
1. แพทย์ท่านนั้นให้นมผสมที่แจกฟรีเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเอกสารแนะนำคุณสมบัติของนมผสมยี่ห้อนั้นๆ แก่คุณ
การแจกตัวอย่างนมผสมผ่านโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นสุดยอดการตลาดที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณแม่ทั้งหลายว่านมผสมนั้นดีไม่แพ้นมแม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
2.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมหรือนมแม่ก็เหมือนๆ กัน
แม้ว่าทารกที่กินนมผสมหรือกินนมแม่ ต่างก็เจริญเติบโตได้เหมือนๆ กัน ไม่ได้หมายความว่า นมผสมจะเหมือนกับนมแม่ทุกประการ มีส่วนประกอบหลายชนิดที่มีในนมแม่ แต่ไม่มีในนมผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิคุ้มกันและเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อโรคของทารก
3. แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมยี่ห้อ XXX ดีที่สุด
4.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า ไม่จำเป็นต้องรีบพาลูกมาดูดนมทันทีหลังคลอด เพราะคุณแม่ควรจะพักผ่อน
แม้จะไม่จำเป็นจริงๆ แต่การนำลูกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการกระตุ้นเร็ว น้ำนมก็จะมาเร็ว
5.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า เด็กทารกไม่มีปัญหากับการสับสนในการดูดนมแม่หรือนมขวดหรอก ควรจะหัดให้ดูดขวดเร็วๆ ลูกจะได้ไม่ปฏิเสธขวดในภายหลัง
การดูดนมแม่และดูดขวดนั้นมีลักษณะการดูดที่แตกต่างกัน การดูดขวดนมนั้น น้ำนมจะไหลเร็วตลอดเวลา โดยที่ลูกไม่ต้องออกแรงมาก ทำให้ลูกเคยชินกับการดูดขวดนมได้ง่าย เพียงแค่ให้ดูดครั้งหรือสองครั้ง หลังจากนั้นลูกจะปฎิเสธการดูดนมแม่ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า
6. แพทย์ท่านนั้นแนะนำให้คุณหยุดให้นมลูก เมื่อคุณหรือลูกไม่สบาย
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณหรือลูกป่วย มีน้อยกรณีมากที่จะไม่สามารถให้นมต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร มียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ โดยไม่กระทบกับการให้นมลูกของคุณ หากได้รับคำแนะนำให้หยุดให้นมลูกจากแพทย์ท่านใด แสดงว่าแพทย์นั้นไม่เห็นความสำคัญของ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขอให้สงสัยไว้ก่อน และลองปรึกษาแพทย์คนใหม่ดู
7. แพทย์ท่านนั้นพูดหรือแสดงอาการแปลกใจว่า ทำไมคุณยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ ทั้งๆ ที่ลูกอายุตั้ง 6 เดือนแล้ว
8.แพทย์ท่านนั้นบอกว่าหลังจาก 6 เดือน นมแม่ไม่มีประโยชน์แล้ว
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน นมแม่ก็ยังเป็น นม เหมือนเดิม มีไขมัน โปรตีน พลังงาน วิตามินและภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับทารกได้เหมือนเดิมทุกประการ
9.แพทย์ท่านนั้นแนะนำว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาอกแม่
ถ้าลูกหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนมแม่ก็เป็นเรื่องดี แต่การที่ลูกหลับคาอกแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรทำ กลับเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลินเสียด้วยซ้ำ ลูกก็หลับ แม่ก็ได้พักผ่อน อบอุ่นกันทั้งแม่ทั้งลูก