วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ก่อนคลอด

เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ขอให้ตั้งใจอย่างแน่วแน่และมั่นคง ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า



“คุณกำลังจะให้ของขวัญที่พิเศษสุดแก่ลูกน้อย ซึ่งมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะมอบให้ได้

หากคุณพลาดโอกาสนี้ไป คุณอาจจะรู้สึกเสียใจทุกครั้ง เมื่อหวนคิดถึงมัน”




สิ่งที่คุณควรจะรู้ก่อนเริ่มต้นก็คือ





ธรรมชาติสร้างมาให้ แม่ทุกคน มีน้ำนมให้ลูกกินเป็นอาหาร


การมีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกโดยไม่ต้องใช้นมผสมนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ธรรมชาติสร้างมา

ไม่ใช่ “โชคดีที่มีน้ำนม” อย่างที่หลายๆ คน เคยพูดให้คุณได้ยิน








การจะเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ เหมือนการเรียนการทำอาหาร



ต้องอาศัยความอดทนและการฝึกฝน



ในระหว่างที่คุณและลูกกำลังเรียนรู้อยู่นั้น

คุณอาจมีความรู้สึกยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยบ้างในบางครั้ง แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ในบางสถานการณ์ อาจต้องใช้เวลามากกว่าปกติ อย่างการคลอดก่อนกำหนด หรือผ่าตัดคลอด หรือทารกมีอาการผิดปกติ ถ้ามีปัญหาใดๆ อย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือ



จงจำไว้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นั้นจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่ยากขึ้น

นี่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพทั้งของคุณและลูกน้อย ประหยัดเงินทั้งค่านมและค่ารักษาพยาบาล



และเหนือสิ่งอื่นใด

เป็นการสร้างสัมพันธภาพซึ่งยาวนานตลอดชีวิตของคุณและลูกน้อย



ในระหว่างตั้งครรภ์ สิ่งที่คุณควรจะเตรียมตัวก็ คือ




1. หาความรู้ให้มากที่สุดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วย นมแม่





เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่และว่าที่คุณพ่อเกือบทุกคนเตรียมตัวและหาความรู้อย่างเต็มที่กับการเตรียมตัวสำหรับการคลอด ซึ่งเป็นกระบวนการที่กินเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็จบ ในขณะที่การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ซึ่งยาวนานหลายเดือนหรือเป็นปี กลับมีการเตรียมตัวและหาข้อมูลกันน้อยมาก





น่าเสียดายที่หน่วยงานของรัฐไม่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้มากกว่านี้ ทำให้เรามีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่กระนั้นก็ยังมีแหล่งข้อมูลดีๆ ที่เป็นที่พึ่งได้อย่าง

กลุ่มนมแม่, ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย,คลีนิคนมแม่



หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งมีน้อยมาก และหาไม่ค่อยได้ตามร้านหนังสือทั่วไป จากการสำรวจล่าสุด มีดังนี้

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย Amy Spangler
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย,
นมแม่ ทุนสมองของลูกรัก
เคล็ดลับแม่มือใหม่ Series นมแม่ โดย มีนะ สพสมัย
พัฒนาสมองด้วยนมแม่วิถีแห่งธรรมชาติ โดย พ.ญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล



2.หาคนคอยสนับสนุนและช่วยเหลือ





บุคคลสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จก็คือ สามี รองลงมาก็คือ คุณยาย คุณย่า และคนในครอบครัว พยายามทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวให้ชัดเจนถึงความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บอกให้ทุกคนทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่คุณได้ศึกษามาเป็นอย่างดีถึงประโยชน์ของนมแม่ เพราะคุณต้องการกำลังใจอย่างมากสำหรับการนี้ ความขัดแย้งทางความคิดในบางครอบครัวอาจเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่





3.เลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่





โดยทั่วไป โรงพยาบาลของรัฐจะมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองว่า เป็น

โรงพยาบาล สายสัมพันธ์แม่-ลูก จะมีแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและ UNICEF




สำหรับโรงพยาบาลเอกชน คุณอาจสอบถามได้จากเพื่อนฝูงหรือ พยาบาลว่ากุมารแพทย์ท่านใดสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้าไม่แน่ใจลองสังเกตจาก

สิ่งเหล่านี้





4. การตรวจ และเตรียมเต้านม





ตรวจดูขนาดและรูปร่างของเต้านมและหัวนม เพื่อค้นหาความผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้องอกหรือถุงน้ำซึ่งอาจจะต้องให้การรักษาหัวนมสั้น แบนบุ๋ม โดยทั่วไปหัวนมจะยาวประมาณ 0.5–1ซม.ถ้าสั้นกว่านี้ลูกอาจจะดูดนมลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผิวหนังที่ลานหัวนมตึงแข็งจับดึงหยุ่นไม่ได้ โคนหัวนมหนาใหญ่ด้วย จะยิ่งดูดลำบาก แต่ถ้าลานหัวนมยืดหยุ่นดีแม้หัวนมสั้น จะสามารถดูดได้ไม่ยาก





ความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์หรือหน่วยฝากครรภ์ของโรงพยาบาล เพื่อจะได้แก้ไข เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อจะช่วย ให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความราบรื่นมากขึ้น ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ช่วยแก้ไขปัญหาหัวนมบอดวางจำหน่ายหลายยี่ห้อ ตามห้างสรรพสินค้า เช่น ปั๊มหัวนมบอด, นิปเปล็ด, ปทุมแก้ว หรือฝาครอบบริหารหัวนม




***ขนาดของเต้านมไม่สัมพันธ์กับการสร้างน้ำนม คุณแม่บางท่านอาจกังวลใจว่าเต้านมมีขนาดเล็กทั้งนี้เป็นเพราะ ปริมาณไขมันในเต้านมมีน้อย แต่ส่วนที่สร้างน้ำนม คือ ต่อมและท่อน้ำนมซึ่งคุณแม่ทุกคนจะมีปริมาณเท่ากัน ฉะนั้นขนาดของเต้านมไม่มีผลต่อความสามารถในการสร้างน้ำนมให้ลูก***