วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ต่อ

หลายสิบล้านบาทบนเนื้อที่ 13,000 ไร่ที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และอีกหลายสิบล้านสำหรับพระตำหนักขนาดย่อมและศูนย์การพัฒนาใกล้เขาค้อ ที่เคยมีการกวาดล้างพคท.อย่างโชกเลือดในปี 2524 เขาค้อกลายมาเป็นตัวต้นแบบหนึ่งสำหรับโครงการพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ผู้รับหน้าที่ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่นี้คือพลเอกพิจิตร กุลละวนิชย์ ที่ได้บัญชาการการรบที่สมรภูมิเขาค้อมาด้วยตัวเอง กองทัพทำการพัฒนาแหล่งน้ำ แนะนำพันธุ์พืช และให้เงินอุดหนุนเกษตรกร ในนามโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเช่นหน่อไม้ฝรั่งและเสาวรสป้อนโรงงานอาหารกระป๋องและตลาดในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ได้มีการเพิ่มงบประมาณให้กองทัพเพื่อนำไปใช้ในโครงการหลวง พลเอกพิจิตรถูกย้ายไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อขยายโครงการหลวงไปยังพื้นที่ใหม่ๆ

เมื่อข่าวคราวและชื่อเสียงของโครงการหลวงโด่งดังไปไกล ชาวบ้านก็พากันขอความช่วยเหลือจากวังอย่างล้นหลาม ทีมงานของพระเจ้าอยู่หัวต้องคอยติดตามแต่ละเรื่อง แล้ววังก็จะลงมือล้วงลูกโดยตรงในกรณีปัญหาสุขภาพหรือหมู่บ้านต้องการสะพานเชื่อมสู่โลกภายนอก หรือไม่ก็ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับไปจัดการ รายละเอียดการร้องทุกข์ของชาวบ้านถูกปกปิดเป็นความลับ ด้วยท่าทีลึกลับปกปิดเช่นนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนพระบารมีและพระปรีชาญาณอันลี้ลับของพระเจ้าอยู่ในการทำนุบำรุงความสุขความอุดมสมบูรณ์แก่ประชาราษฎรของพระองค์ ยิ่งโครงการหลวงของพระองค์ได้รับการโหมโฆษณาโดยพลเอกเปรมและงบประมาณของรัฐบาลมากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งมองข้ามรัฐบาลและหวังพึ่งแต่พระเจ้าอยู่หัวให้ทรงปัดเป่าปัญหาความทุกข์ยากของพวกเขามากขื้นเท่านั้น

โครงการหลวงได้เพิ่มจำนวนขื้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงก็เพิ่มขื้นด้วย เนื่องจากบางโครงการอาจผิดพลาดล้มเหลวและทำให้ในหลวงภูมิพลเสียหน้า ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระดับชั้นโครงการเพื่อป้องกันวังจากข้อครหานินทาต่างๆ โครงการในระดับชั้นสูงสุดคือโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการโดยพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีโดยตรง ต่ำลงมามีอีกสามระดับชั้นที่มีรัฐบาลและคนอื่นๆรับผิดชอบ ทำให้วังรับแต่ความดีความชอบอย่างเดียว ส่วนความผิดพลาดล้มเหลวก็โยนให้เป็นเรื่องของคนอื่น

มีสองโครงการที่ประสานพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการพัฒนาเข้าไว้ด้วยกัน คือ แนวคิดวัดพัฒนาตัวอย่าง ในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางชุมชนมาแต่เดิมจึงสามารถจัดตั้งมวลชนได้ดีกว่าหน่วยงานราชการที่หยาบกระด้าง พระสงฆ์จะทำหน้าที่สั่งสอนศีลธรรม ความร่วมมือ การแบ่งปัน และทำงานหนักเพื่อเอาชนะความยากจน แนะแนวการใช้ชีวิตที่พอเพียง พึ่งตนเอง ไม่ใช่การผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนตลาดเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่าชาวบ้านจะมีความสุขถ้าพวกเขามีมากเกินพอเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี ต้นแบบของวัดพัฒนาตัวอย่าง คือ ธุดงคสถานถาวรนิมิตรจังหวัดนครนายก เป็นโครงการส่วนพระองค์ ในปี 2528 มีเนื้อที่ 350 ไร่ พื้นที่เล็ก ๆ ส่วนหนึ่งถูกกันไว้สำหรับกิจกรรมทางศาสนา ที่เหลือสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำกับสวนที่ปลูกพืชต่างๆ เพื่อการทดลอง เพาะเมล็ด ผลิตอาหาร ป้อนให้กับชุมชน มีพระสงฆ์เป็นผู้จัดการแจกจ่ายผลผลิตส่วนเกิน

โครงการต้นแบบแห่งที่สองเป็นชุมชนใหม่บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ของวัดในจังหวัดชลบุรี เดิมเป็นที่ดินที่บริจาคให้พระญาณสังวร พระพี่เลี้ยงของในหลวงในปี 2519 ตั้งชื่อวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร มีการขยายเนื้อที่เพิ่มเติมและพระญาณสังวรก็ถวายให้พระเจ้าอยู่หัวเป็นวัดหลวง เมื่อในหลวงเสด็จเยือนในปี 2525 ทรงรับสั่งให้ปรับเป็นสหกรณ์ต้นแบบและศูนย์การพัฒนาที่อิงอยู่บนธรรมะ
เป็นการสร้างขึ้นจากศูนย์เลยจริง ๆ มีไม่กี่คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กันดารนั้น การจะเปลี่ยนให้มันเป็นชุมชนเกษตรอันผาสุก ต้องใช้เงินหลายสิบล้านบาทในการสร้างแหล่งน้ำและปรับปรุงดินด้วยการนำดิน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอื่นๆ มาถมด้วยรถบรรทุกหลายพันเที่ยวที่ใช้เวลานานทีเดียว พืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม้ผล พันธุ์ไม้ต่างๆจึงแทงรากงอกงามขื้นมาได้ และป่าเสื่อมโทรมรอบๆ ก็ฟื้นฟูขื้นมาโดยธรรมชาติ ชุมชนพร้อมด้วยโรงพยาบาลและโรงเรียนก็อุบัติขื้น ภายใต้การดูแล