วัดอรุณเท่านั้น แต่คราวนี้จัดเพื่อเทิดพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวและโฆษณาการท่องเที่ยว การฉลองสองร้อยปีของกรุงเทพฯก็ยังต้องมีสิ่งอัศจรรย์ที่แสดงถึงพระบุญญาอภินิหารของพระราชวงศ์จักรี โดย มรว.ทองน้อย ทองใหญ่เลขาธิการสำนักองคมนตรีได้ชี้ว่าในวันครบรอบสองร้อยปีคือวันที่ 6 เมษายน 2525 เมื่อเวลา11โมงเช้า เกิดปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลด ซึ่งเป็นไปตามที่พระเกจิรูปหนึ่งได้ทำนายไว้ และปรากฏการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นเองเมื่อสองร้อยปีก่อน(ซึ่งก็คือวันที่พระยาจักรีสั่งประหารพระเจ้าตากสินเพื่อแย่งชิงพระราชบัลลังก์และสถาปนาราชวงศ์จักรีของตนขึ้นมา)
สื่อต่างชาติก็พากันเกาะขบวนแห่แหนไปด้วย เอเชียวีคเขียนว่าราชวงศ์จักรีมีพระมหากษัตริย์ที่โดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง และเทิดทูนสดุดีในหลวงภูมิพลว่าทรงเป็น “ผู้คอยดูแลนำพาประเทศผ่านวิกฤตรัฐธรรมนูญมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า” โดยยกเหตุการณ์ 14 ตุลา2516 และ กบฏเมษาฮาวาย 2524 ซึ่งไม่ได้เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญเลยทั้งสองครั้ง แต่ไม่พูดถึงเหตุการณ์ทรราชพิฆาตซ้ายเมื่อ 6 ตุลา 2519 นิตยสารสารคดีภูมิศาสตร์ระดับโลกเนชั่นแนลจีออกราฟิคNational Geographic ตีพิมพ์เรื่องเด่นประจำฉบับที่ไม่กล่าวถึงการรัฐประหารซ้ำซากของไทย แต่บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพุทธศาสนาทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพ ในหลวงทรงพระราชทานสัมภาษณ์เนชั่นแนลจีออกราฟฟิค ว่า การพัฒนาประเทศของไทยคือ “การมองสิ่งที่ดีในอดีต ประเพณีสืบทอดกันมา และมีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือบทเรียน เรานำขนบประเพณีมาปรับปรุงใหม่เพื่อใช้ในปัจจุบันและอนาคต” ดูแล้วก็เป็นเรื่องแปลกที่ในหลวงภูมิพลเน้นย้ำอดีต ขณะที่ในฉบับเดียวกันนั้นก็มีเรื่องจากปกเกี่ยวกับซิลิคอนชิพสารเหนี่ยวนำไฟฟ้าที่ส่งผลปฏิวัติวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่
พลเอกเปรมยังอาศัยความเจ็บป่วยของพระราชวงศ์มาใช้เป็นประเด็นเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องในคราวที่พระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรในปี 2525 พลเอกเปรมกับกองทัพได้จัดมหกรรมจงรักภักดีที่นำโดยลูกเสือชาวบ้า
น กรมการศาสนาจัดทำบุญและนั่งสมาธิหมู่ทั่วประเทศเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว บางงานมีสมเด็จสังฆราชเป็นประธาน มีการถวายคำอวยพรจากผู้นำประเทศต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าพระเจ้าอยู่หัวคือธรรมราชาผู้เป็นที่เคารพในระดับสากล
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระมเหสีหม้ายในรัชกาลที่ 7 สิ้นพระชนม์ในเดือนพฤษภาคม 2527 พลเอกเปรมได้ขยายเวลาไว้อาลัยจากปกติ 100 วันเป็นสิบเอ็ดเดือน(หรือราว 330 วัน) ทำให้ทุกองค์กรและกลุ่มสังคมทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายสักการะพระบรมศพโดยทั่วหน้ากันและรัฐบาลเปรมได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพอันยิ่งใหญ่สุดอลังการในเดือนเมษายน 2528 ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาท ท่ามกลางภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในขณะนั้น และได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดีโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีเมรุประดับทองอันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุที่มีความสูง 29 เมตร ขบวนแห่ยาวสามกิโลเมตรจากพระบรมราชวังประกอบด้วยราชรถสีแดงและสีทองนำพระบรมศพที่บรรจุในโกศประดับอัญมณี พร้อมด้วยทหารมือกลอง และพลเป่าแตรหนึ่งพันนายแต่งกายในชุดจักรีโบราณ โทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสด พระราชสกุลมหิดลทรงนำขบวนแห่ของเชื้อพระวงศ์นับร้อย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ที่ยิงสลุดดังอื้ออึง
ผลงานที่สำคัญที่สุดของพลเอกเปรมคือการขยายกิจการโครงการหลวงอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบมากที่สุด และพลเอกเปรมก็ได้ทำให้โครงการพระราชดำริกลายมาเป็นสัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางการค้าของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ในทศวรรษ 2520 ในปี 2523 โครงการหลวงมีจำนวนสองสามร้อยโครงการ ส่วนใหญ่ใช้เงินบริจาคที่ได้รับผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในภาพษณ์ของในหลวงอยู่แล้ว ภาพถ่ายและภาพยนต์ทางโทรทัศน์ที่โหมประโคมแสดงภาพในหลวงภูมิพลเสด็จพระดำเนินลุยป่าฝ่าดงในชนบทมีกล้องแคนน้อนห้อยพระศอ ทรงถือแผนที่กับสมุดจด ทรงสอบถามชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับปริมาณน้ำตามฤดูกาล ปริมาณฝนและการทำเกษตร ผู้ตามเสด็จมักจะ