วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่ต้องทำเมื่ออยู่ ร.พ

1. เลือกคลอดแบบธรรมชาติ (ถ้าเป็นไปได้)



การคลอดแบบธรรมชาติ ทำให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว น้ำนมมาได้เร็วกว่าการผ่าคลอด อีกทั้งลูกจะไม่ได้รับผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการผ่าคลอด แต่ถ้าจำเป็นต้องผ่าคลอด แจ้งให้คุณหมอทราบว่าเราต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปรึกษาคุณหมอว่าจะการลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดด้วยวิธีใด ที่มีผลข้างเคียงต่อทารกน้อยที่สุด



ถึงกระนั้น คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ถ้าต้องผ่าคลอด ผลของการผ่าคลอด แค่ทำให้น้ำนมมาช้ากว่าปกติเพียง 1-2 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกน้อยของเรายังไม่ต้องการอาหารมากมายนัก



2. ให้ลูกดูดนมเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้



ทารกจะตื่นตัวและตอบสนองต่อแรงกระตุ้นในการดูดอย่างเต็มที่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด การดูดนมทันทีของทารกจะช่วยให้มดลูกบีบตัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน Oxytocin (ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน) ทำให้แม่รู้สึกผูกพันกับลูกน้อย



การดูดนมครั้งแรกของทารก ถือเป็นการเรียนรู้และทำความรู้จักกับอกแม่ เด็กบางคนอาจจะแค่ดมหรือเลีย เด็กบางคนก็ดูดเป็นในทันที คุณแม่ไม่ต้องกังวลและไม่ต้องพยายามบีบบังคับให้ลูกดูดให้ได้อย่างถูกต้อง ในครั้งแรกที่เจอกัน แค่การกอดและสัมผัสกันก็ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นแล้ว ลูกน้อยจะสามารถดูดนมได้เองภายในไม่ช้า



3. ให้ลูกดูดบ่อยๆ และดูดให้ถูกวิธี



การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะประสบความสำเร็จได้ง่าย ถ้าลูกสามารถดูดนมเป็นเร็ว และดูดบ่อยๆ การดูดที่ถูกวิธี ทารกจะได้รับน้ำนมเต็มที่ แม่ไม่รู้สึกเจ็บ และช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้เร็วขึ้น ถ้าลูกดูดนาน หรือแม่รู้สึกเจ็บ หัวนมแตก อักเสบ แสดงว่าลูกดูดนมไม่ถูกต้อง ให้ปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทันที



ก่อนออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน ควรจะแน่ใจแล้วว่าคุณสามารถให้ลูกดูดนมได้อย่างถูกต้องและไม่เจ็บแล้ว ถ้าไม่แน่ใจ ให้พยาบาลฝึกให้จนกว่าจะมั่นใจก่อนออกจากโรงพยาบาล หากมีปัญหาใดๆเกี่ยวกับการให้นมแม่ สามารถขอคำปรึกษาได้จาก คลีนิคนมแม่





วิธีการให้ลูกดูดนมที่ถูกต้อง







พยายามให้ลูกอ้าปากกว้างๆ ใช้หัวนมแตะที่จมูก หรือริมฝีปากลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก เมื่อลูกอ้าปาก ประคองศีรษะลูกเข้ามาที่หน้าอก ให้คางและริมฝีปากล่างของลูกสัมผัสเต้านมก่อน ควรตรวจดูว่าลูกอมลานหัวนมได้ลึกดีพอ อย่าลืมว่าต้องอุ้มลูกเข้ามาหาอกแม่ ไม่ใช่ก้มตัวแม่ไปหาปากลูก








การดูดที่ถูกต้อง ลูกจะต้องดูดแล้วใช้เหงือกกดทับบนลานหัวนม (คือบริเวณวงสีคล้ำรอบหัวนม เป็นส่วนที่ลูกจะอมเข้าไปด้วยเมื่อ ดูดนมไม่ใช่งับเฉพาะหัวนม) ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำนมอยู่ กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร และ ลิ้นของลูกจะทำหน้าที่ประสานกันเพื่อดูดนม คุณแม่จะสังเกต เห็นขมับและหูของลูกขยับเป็นจังหวะตามการดูด แสดงว่า กล้ามเนื้อขากรรไกรกำลังทำงาน



ถ้าลูกงับเฉพาะหัวนม ลูกจะได้นมแม่น้อย เพราะไหลไม่สะดวก ตามธรรมชาติ น้ำนมจะสร้างจากต่อม ซึ่งกระจายอยู่ทั่วเต้านม มีท่อน้ำนมต่อมารวมกันบริเวณที่เป็นวงสีคล้ำๆ รอบหัวนม เรียกว่า ลานหัวนม (Arerola) ถ้าลูกงับ ส่วนนี้จะทำให้ท่อน้ำนมทำงานดีขึ้น



ถ้าลูกดูดได้อย่างถูกต้อง คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บ (อาจจะรู้สึกจี๊ดๆ ซึ่งเป็นกลไกน้ำนมพุ่ง แต่ไม่เจ็บ) ถ้ารู้สึกเจ็บ ให้หยุดแล้วเริ่มต้นใหม่ โดยใช้นิ้วก้อยสอดเข้าไปตรงมุมปากลูกเพื่อให้ลูกอ้าปาก ถอนปากลูกออกมา แล้วลองใหม่ อย่าปล่อยให้ลูกดูดทั้งๆ ที่เจ็บ เพราะจะทำให้หัวนมแตก และอักเสบได้










ท่านั่งและอุ้มแนบอก











ท่านั่งและอุ้มแบบแนบอก สลับแขน ท่านั่งแบบอุ้มด้านข้างแนบอก












ท่านอนตะแคง



4. หลีกเลี่ยงการให้นมผสมจากขวด



เพื่อป้องกันการสับสนจากการดูดนมแม่ และดูดจากขวด ถ้าทารกยังไม่รู้จักวิธีดูดนมจากเต้าที่ถูกต้อง การให้ดูดจากขวดในช่วงแรก (ก่อน 1 เดือน) อาจทำให้ทารกปฏิเสธการดูดจากเต้าได้



โดยปกติช่วงสองสามวันแรก น้ำนมแม่จะมีปริมาณน้อย แต่เป็นหัวน้ำนมที่มีคุณค่ามาก (Colostrum) การให้นมผสมจะทำให้การดูดกระตุ้นลดลง ทำให้นมยิ่งมาช้า แต่ถ้าจำเป็นต้องให้นมผสม ให้ใช้วิธีป้อนด้วยแก้วหรือช้อน เมื่อน้ำนมมาแล้ว ให้หยุดนมผสม และพยายามให้ลูกดูดบ่อยๆ



การผลิตน้ำนมเป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทานซึ่งปรับตามความต้องการของลูกโดยแท้จริง ถ้าให้ลูกดูดตามต้องการ น้ำนมก็จะผลิตได้มากตามต้องการ ถ้าไม่ให้ดูด น้ำนมก็จะลดลงและหยุดผลิตไปเอง



*** สำหรับคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอด จะต้องงดน้ำและอาหาร 24 ช.ม. หลังผ่า น้ำนมจะมาช้ากว่าคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อหมออนุญาตให้เริ่มทานน้ำและอาหารได้ ควรทานอาหารที่เป็นน้ำมากๆ เช่น โอวัลตินหรือไมโลชงร้อนๆ น้ำเต้าหู้ น้ำขิง แกงจืด ฯลฯ และต้องดื่มน้ำอุ่นมากๆบ่อยๆ (ทุกช.ม.) จะช่วยให้น้ำนมมาเร็วขึ้น



5. ระวัง ! นมผสมที่แจกฟรี



นมผสมที่แจกฟรีก่อนกลับบ้านนั้น เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลอย่างยิ่ง ในการทำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ จนต้องหันไปใช้นมผสม



ถ้าคุณแม่มีสุขภาพดี ทานอาหารอย่างพอเพียง และได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง มั่นใจได้เลยว่าคุณแม่จะต้องมีน้ำนมพอให้ลูกกิน ถ้าคุณไม่แน่ใจ และคิดว่านมไม่พอ สิ่งที่คุณต้องการ ไม่ใช่นมผสม แต่เป็น ความช่วยเหลือและคำแนะนำที่ถูกต้อง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ คลีนิคนมแม่ ทุกแห่ง



****สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับนมผสม****





โรงพยาบาลส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะร.พ.เอกชน) จะมีเครื่องปั๊มนมอย่างดี (Hospital Grade) ให้ใช้ฟรี ซึ่งพยาบาลส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่ามันช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมแทนลูกได้ จึงไม่นำมาให้คุณแม่ใช้



โดยปกติสัญชาตญาณในการดูดของทารกจะแรงที่สุดภายใน 1 ช.ม. แรกหลังคลอด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนในการสร้างน้ำนมได้ดีที่สุด ทำให้คุณแม่ที่ผ่าคลอดพลาดโอกาสในช.ม.แรกนี้ไป นอกจากนี้ช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ทารกจะนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องปั๊มนมช่วยกระตุ้นแทน (ทุก 2 ชม. ถ้าเป็นไปได้) ในระหว่างที่อยู่ ร.พ. จะทำให้น้ำนมมาเร็วและมากขึ้น ก่อนออกจากร.พ.



การใช้เครื่องปั๊มนมหลังจากคลอดใหม่ๆ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากๆ ให้ปรับแรงดูดให้เบาที่สุด ปั๊มครั้งละ 10-15 นาที แม้ครั้งแรกๆ จะยังไม่มีน้ำนมออกก็ไม่ต้องกังวล ให้ลูกดูดร่วมกับการปั๊มกระตุ้นบ่อยๆ น้ำนมจะมาในที่สุด จำไว้เสมอว่าธรรมชาติสร้างให้คนเลี้ยงลูกด้วยนม เพราะฉะนั้น แม่ทุกคนต้องมีน้ำนมให้ลูกของตนแน่นอน