วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ต่อ

เป็นผู้ถูกปกครอง และมีหน้าที่ต่อรัฐด้วยการมีวินัยและทำงานสร้างสังคม อันเป็นคุณธรรมสมัยใหม่ที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงบัญญัติขึ้น ส่วนประชาธิปไตยก็ยังคงเป็นไปตามการอธิบายและอยู่ในขอบเขตของความมั่นคง ที่ตีความโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงที่ยังยืนมาตลอดทศวรรษ 2520 ว่า คอมมิวนิสต์เวียตนามหรือไม่ก็จีนจะบุกยึดประเทศไทย พวกเขายังคงไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภาและหลักกฎหมายโดยถือว่าเป็นของนำเข้าจากตะวันตก คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติจึงหันไปเน้นความสำคัญของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแทน โดยอ้างว่าเป็นเหมือนสัญญาประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญระหว่างผู้นำคือกษัตริย์กับประชาชน เอกสารของคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติระบุว่า“ประชาชนไม่ใช่รัฐบาล ถ้าต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดเป็นนโยบายก็เท่ากับว่าให้ประชาชนเป็นรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง”

ผู้ช่วยด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศและเลขานุการองคมนตรีของในหลวงคือมรว.ทองน้อย ทองใหญ่ ก็โผล่มาในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ในบทบาทนักทฤษฎีสมัยใหม่ของวัง มรว.ทองน้อยสร้างคำอธิบายยืดยาวสำหรับรองรับอำนาจพระมหากษัตริย์โดยอิงอยู่บนวิทยาศาสตร์ปนกับอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการเขียนบทความบรรยายยาวเหยียดเป็นชุดลงในบางกอกโพสต์ในปี 2526 ว่า กษัตริย์ไทยปกครองโดยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยเอกฉันท์ ประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเบื้องหลังการปกครองขององค์พระมหากษัตริย์ ที่ทรงปกป้องคุ้มครองราษฎรให้พ้นจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกและทรงดูแลทุกข์สุขให้พวกเขา นักการเมืองในประเทศไทยมีความเห็นแก่เงินและบ้าอำนาจเกินกว่าที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวม สื่อมวลชนก็พึ่งพาไม่ได้ เป็นแค่ ความบันเทิงอีกแขนงหนึ่ง มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงมีภูมิรู้ทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ ความรอบรู้และความเสียสละที่จะครองความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งชาติได้

มรว.ทองน้อยบอกว่าคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ดี เมื่อในหลวงภูมิพลทรงประชวร ทุกคนพากันตระหนกตกใจกัน แต่เวลารัฐบาลล้ม ไม่สู้มีใครใส่ใจ เพราะรัฐบาลก็เป็นแค่สิ่งบันเทิง ทัศนะนี้สะท้อนวิธีคิดของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอย่างชัดเจน ในการพระราชทานสัมภาษณ์ปี 2525 ทรงเผยพระประสงค์ออกมาว่าพระองค์น่าจะมีความพร้อมมากกว่าคือพระองค์ควรจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะพระองค์ทรงฉลาดกว่าใครและประชาชนก็ศรัทธาเชื่อมั่นพระองค์“รัฐธรรมนูญเขียนว่ากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นี่เป็นระบบที่ประสบการณ์ของพระมหากษัตริย์อาจเป็นประโยชน์ ประธานสภาจะมาขอคำปรึกษา แต่พระมหากษัตริย์อาจมีอำนาจมากกว่าเพราะประชาชนมีความศรัทธาในตัวกษัตริย์ ”
จากแนวคิดเรื่อง “มติเอกฉันท์”หรือการแอบอ้างฉันทานุมัติจากประชาชน นี้ มรว.ทองน้อยถึงกับสร้างหลักการขึ้นมาใหม่โดยประกาศว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความจำเป็นเพราะมติเอกฉันท์ของประชาชน ที่รวมอยู่ในตัวพระมหากษัตริย์นั้นเท่ากับเป็นประชาธิปไตยแล้ว เขาบอกว่าอังกฤษที่เป็นประเทศประชาธิปไตยต้นแบบก็ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ 2475 รัฐธรรมนูญไทยก็เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้ชนชั้นนำที่แสวงหาอำนาจ รวมทั้งกองทัพด้วย มรว.ทองน้อยอ้างได้ถึงอดีตนายกฯ ไทยสองคนที่แตกต่างกันอย่างมากแต่ก็อยู่ในคณะองคมนตรีรับใช้ในหลวงด้วยกันทั้งคู่ คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์นายกนักประชาธิปไตยกับนายธานินทร์ กรัยวิเชียรนายกเผด็จการขวาจัด โดยเขาอธิบายความหมายของประชาธิปไตยว่าเป็นวิธีการปกครองที่สิทธิของพลเมืองจะต้องได้รับการคุ้มครองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และมีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะทำอย่างนั้นได้ แต่มรว.ทองน้อยก็ยอมรับว่าคนไทยเคยชินกับการมีรัฐธรรมนูญ แต่หากจะมีรัฐธรรมนูญก็จะมีบทบัญญิตที่จำเป็นเพียงสามมาตราเท่านั้น คือ:

1: ประเทศไทยเป็นชาติที่มีเอกราช เป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจแบ่งแยกได้ (คือ ต้องเป็นราชอาณาจักรอย่างเดียว ห้ามเป็นสาธารณรัฐ ห้ามมีประธานาธิบบดี)
2: ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ โดยกษัตริย์มาจากราชวงศ์จักรี (คือต้องมีพระมหากษัตรย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่ห้ามผู้ใดละเมิดโดยเด็ดขาด)
3: ประเทศไทยควรเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (คือต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่ถือความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ)

มรว.ทองน้อยดูจะเห็นตรงกันข้ามกับพระเจ้าอยู่หัวเรื่องทหารเข้ามายุ่งการเมือง โดยโจมตีทหารว่าเป็นพวกกระหายอำนาจโดยสันดานที่จ้องผูกขาดการปกครองเป็นการซ้ำเติมปัญหาความยากจน ความด้อยพัฒนาและการทุจริตคอร์รัปชันที่ระบาดไปทัว แต่แล้วก็ต้องรีบกลับหลังเปลี่ยนความคิดอย่างกระทันหันโดยบอกว่าฉันทามติของประชาชนและวัฒนธรรมของชาติไทยเป็นรากฐานของทางอำนาจของทหาร เพราะคนไทยยกย่องทหารเหมือนเป็นตัวแทนของพวกเขา และต้องการให้ทหารคุ้มครองเสถียรภาพความมั่นคงของชาติและสถาบัน สำหรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยๆนั้น มรว.ทองน้อยอ้างพระบรมราโชวาทของในหลวงภูมิพลว่าประชาชนจะต้องดูทหารที่เจตนา เพราะทหารก็ต้องการประชาธิปไตยเหมือนกับประชาชนนับตั้งแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่ความพยายามในการส่งเสริมพระบุญญาบารมีของวังในสมัยพลเอกเปรมไม่สามารถปิดปากนักวิจารณ์จำนวนมากที่กล้าตั้งคำถามถึงทิศทางของระบอบการเมืองการปกครองที่กำลังจะเป็นไป มีทั้งนักการเมืองที่ทะเยอทะยาน นักวิชาการหัวก้าวหน้า และอดีตนักศึกษาที่ยังเคลื่อนไหว หลายคนทำงานหนังสือพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งเป็นสื่อที่รัฐบาลกับกองทัพควบคุมไม่ได้เท่ากับโทรทัศน์และวิทยุ นิตยสารการเมืองจำนวนหนึ่งเกิดขื้นมาและวิเคราะห์การเมืองของรัฐบาลเปรม โดยพาดพิงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกเปรมและในหลวงอย่างอ้อมๆและสะท้อนออกมาในบทความหนึ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์เอเชี่ยนวอลล์สตรีทเจอร์นัล Asian Wall Street Journal ถึงกับถูกห้ามเผยแพร่ในไทยตอนปลายปี 2524 เพราะไมเคิ้ล ชมิคเกอร์ Michael Schmicker เขียนตั้งคำถามแบบวอนหาเรื่องว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดไปได้ถึง 20 ปีหรือไม่ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ จากทั่วสารทิศ นอกจากพคท.แล้ว ภัยคุกคามที่หนักหนากว่ามาจากนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกับพวกนักวิชาการเสรีนิยมในมหาวิทยาลัย ที่ถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่างความคิดเสรีประชาธิปไตยของตนกับความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะพวกนิยมเจ้าที่กล่าวหาพวกที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยว่าเป็นพวกที่ต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เห็นได้ชัดว่าพระราชวงศ์ทรงมีความมุ่งมั่นหรือถึงกับหมกมุ่นกับการรักษาสถานภาพของตนเท่านั้น
ชมิคเกอร์ยังชี้ถึงภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งคือ การแบ่งพรรคแบ่งพวกในกองทัพ ดังที่เห็นในกบฏเมษาฮาวายที่จบลงแบบเจ็บตัวไปตามๆกัน “รัฐประหารที่ล้มเหลวลงไปพร้อมกับความน่าเชื่อถือของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เคยตัวกลางที่ไม่เอนเอียงเข้าข้างทหารฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พระราชวงศ์ตอนนี้ได้เสี่ยงแสดงตนเข้าข้างทหารฝ่ายหนึ่งและจะต้องยอมรับความเสี่ยงจากการที่ได้ทรงเลือกข้างนั้น” สิ่งที่เป็นปัญหาอันสุดท้ายคือฟ้าชายวชิราลงกรณ์ “นับแต่ทรง บรรลุนิติภาวะมาเมื่อเก้าปีก่อน ฟ้าชายวชิราลงกรณ์วัย 29 ชันษาได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้ถูกใจประชาชนสำหรับการขึ้นครองราชย์สืบต่อไป แต่พระองค์ดูจะขาดแคลนสติปัญญา บารมีและ สามัญสำนึก อันจำเป็นสำหรับการดำรงค์ไว้ซึ่งความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อพระราชวงศ์จักรี และว่ากันว่ากองทัพก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อฟ้าชายนัก ภาพลักษณ์ของเสือผู้หญิงหรือเพลย์บอยของพระองค์ทำให้ฟ้าชายมีชื่อเสียงไม่ดีและทำให้ผู้คนเอาสถาบันกษัตริย์มาล้อเลียนเป็นเรื่องสนุก”
เป็นไปตามคาด รัฐบาลเปรมเดือดดาลกับบทความชิ้นนี้และกล่าวหาว่าเป็นการใส่ร้ายโกหกบิดเบือนของต่างชาติ แต่ในปี 2525 นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนนักวิจารณ์เจ้าได้เขียนในหนังสือ“ลอกคราบสังคมไทย” ว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกำลังมุ่งหน้าไปผิดทิศผิดทางและทรงเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเทศไทย รัฐบาลเปรมไม่ใส่ใจคำวิจารณ์จนกระทั่งปี 2527 จึงสั่งจับนายสุลักษณ์ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ ตลอดจนนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากต่างพากันประณามรัฐบาลเปรมอย่างรุนแรง เมื่อในหลวงภูมิพลทรงถูกลากเข้ามาในเวทีระหว่างประเทศที่ต่อสู้ยาก พระองค์ก็ทรงยื่นมือเข้ามาแทรกแซงอย่างเงียบๆให้นายสุลักษณ์หลุดคดีไป แต่พวกชาววังก็บอกชัดเจนว่าไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลยกับการจัดการกับนายสุลักษณ์ และข้าในวังรายหนึ่งไปทัวร์ออสเตรเลียและในการประชุมปิดกับนักวิชาการในเวลาต่อมาก็ยังยืนยันชัดเจนว่านายสุลักษณ์กับพวกต้องถูกจับเพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม และจำเป็นต้องสั่งสอนบทเรียนแก่เขา

ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์การแทรกแซงการเมืองของพระเจ้าอยู่หัวเป็นบทความภาษาอังกฤษ 69หน้า ไม่ลงชื่อผู้เขียน ชื่อ “ราชวงศ์จักรีและการเมืองของไทย 2325-2525” (The Chakri Dynasty and Thai Politics, 1782-1982)แจกจ่ายเผยแพร่ในหมู่นักวิชาการในปี 2526 เข้าใจว่าเป็นผลงานของมรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร หลานปู่ของเจ้าฟ้าบริพัตร ผู้เคยมีสิทธิเป็นรัชทายาทคนหนึ่ง โดยบรรยายปัญหาทางการเมืองของกษัตริย์แปดรัชกาลแรกอย่างปกติธรรมดาแต่ในหน้าท้ายๆมรว.สุขุมพันธ์ซึ่งเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ก็พูดตรง ๆ ถึงอันตรายของการที่ในหลวงภูมิพลทรงเลือกข้างทางการเมืองอย่างเปิดเผย เขาอ้างถึงความขัดแย้งระหว่างวังกับข้าราชการ, พวกอนุรักษ์ที่ดื้อด้าน และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 เขาได้เตือนว่า “สถาบันกษัตริย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความหวังสำหรับหลายคนในยุคเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ กำลังเสี่ยงต่อการถูกมองว่าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถอยหลังเข้าคลองและขัดขวางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง...โดยขัดแย้งในตัวเองก็คือแสวงหาอำนาจเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงแต่ในที่สุดแล้วกลับเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเสียเอง สถาบันกษัตริย์กำลังพยายามแสดงบทบาทเป็นทั้งสัญลักษณ์ของความสามัคคีของคนในชาติและเป็นผู้กระหายอำนาจเสียเอง โดยไม่ได้สำนึกว่าบทบาทสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเองโดยสิ้นเชิงและเป็นอันตราย ขณะที่ความยืดหยุ่นพลิกแพลงและการเน้นที่ผลงานที่เคยเป็นจุดแข็งของราชวงศ์จักรีได้สูญหายไปแล้ว”

เนื่องจากบทความนี้ไม่ลงชื่อผู้เขียนและแจกจ่ายเฉพาะแวดวงปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์และนักการทูต โดยไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ วังจึงทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขื้น แต่คำเตือนของมรว.สุขุมพันธ์ก็ปรากฏเป็นจริงในปีถัดมานั้นเอง
++++++++++
ขณะที่มรว.ทองน้อย ทองใหญ่(จบปริญญาตรีและโทภาษาสมัยใหม่ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด อังกฤษ เลขาธิการคณะองคมนตรี 2515-2539) กำลังอธิบายแจกแจงเหตุผลรองรับความชอบธรรมของระบอบวังกับเปรมอยู่นั้น เสาหลักของโครงสร้างนี้คือในหลวงกับพลเอกเปรมก็กำลังเสื่อมทรุดลงใกล้พังอย่างที่มรว.สุขุมพันธ์ได้เตือนไว้ ระหว่างปี 2527-2529เกิดความแตกแยกภายในกองทัพ การพยายามก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล เรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น และวิกฤตอื่นๆ ทำเอาพลเอกเปรมกับในหลวงต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปตามๆกัน คงเป็นเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแตกแยกภายในกองทัพ แต่ตัวการสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือพระราชวงศ์ ซึ่งเริ่มจากพระราชินีก่อน...
พระราชินีสิริกิติ์ใช้เวลายี่สิบปีแรกในพระราชวังไปกับการเฉลิมฉลองความเป็นราชินีในเทพนิยายของพระองค์ ขณะที่ความสาวความงามของพระนางก็ซีดจางร่วงโรยไปตามอายุที่มากขึ้น พระราชินีได้สั่งสมบริวารเป็นจำนวนมากจากบรรดาผู้คนที่แข่งกันแสวงหาพึ่งพาจากพระนาง เห็นได้ชัดจากบทบาทที่ทรงพัวพันกับการเมืองปีกขวาจัดในปี 2519 ซึ่งเป็นขุมกำลังทางการเมืองของพระนางเอง นิตยสารพาเรด Parade ในสหรัฐฯ ตั้ง ฉายาให้พระราชินีว่า “นางพญามังกร” (dragon lady) ผู้เลอโฉมและทะยานอยาก แบบพระนางซูสีไทเฮาก่อนสิ้นราชวงศ์ของจักรพรรดิประเทศจีน
พระราชินีสิริกิติ์ทรงแสดงบทบทบาทหลักในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพที่ช่วยผู้หญิงฝึกอาชีพหัตถกรรม ทรงระดมทุนด้วยงานการกุศลและอื่นๆ ได้หลายร้อยล้านบาทต่อปีเป็นประจำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับทีมงานส่วนพระองค์กว่า 50 คน และยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายคนในมูลนิธิฯ ทรงเสด็จต่างจังหวัดเป็นขบวนเอิกเกริกอยู่เป็นประจำท่ามกลางทหารคุ้มกันหนาแน่น พระราชินีก็จะปรากฏพระองค์อยู่เบื้องหน้าพสกนิกร โดยทรงเจิดจรัสในชุดแฟชั่นนำสมัย ระย้าพร่างพรายด้วยเพชร พลอย มรกตและไข่มุก ในทศวรรษ 2520 ทรงชอบสวมกางเกงแบบฮาเร็ม หมวกแบบผ้าโพก ที่ชาวบ้านคงมองดูด้วยความทึ่งและตะลึงงัน มรว.ทองน้อยได้อธิบายว่าพระราชินีกลัวว่าจะทำให้พสกนิกรผิดหวังถ้าพระราชินีไม่แต่งตัวให้ดี เพราะประชาชนมีความคิดของพวกเขาว่าพระราชินีคือนางฟ้าผู้มีบุญ และพระราชินีก็จะทรงพบปะกับผู้หญิงและเด็กเล็กในหมู่บ้านที่เจ็บป่วยที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ทรงแจกจ่ายยาและบอกให้พวกเขาดูแลรักษาตัวเอง ด้วยสุ้มเสียงเนิบช้าเหมือนแม่พูดแนะนำลูกเล็กอันเป็นท่วงท่าที่พระนางใช้พูดกับทุกคนนอกวัง หลังจากนั้นขบวนเสด็จก็จะแจกจ่ายข้าวของ หยูกยา ให้การรักษาพยาบาล และจ่ายเงินแก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสำหรับงานฝีมือของพวกเขา ซึ่งจะถูกขนกลับไปขายยังตลาดที่ห่างไกล
ท่วงท่าที่เชื่อมั่นของพระราชินีนี้ได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าทรงกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตส่วนตัวเนื่องจากรูปโฉมที่กำลังร่วงโรย ความไม่ใส่พระทัยจากพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับโครงการพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่ไม่เคยว่างเว้น พระราชโอรสสุดที่รักที่มีแต่เรื่องที่ทำให้ต้องปวดพระเศียร และคำวิจารณ์การที่พระนางเข้ามายุ่งกับการเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้ทรงต้องดิ้นรนเอาชนะให้ได้ด้วยการใช้พระบารมีที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม รัฐบาลได้ช่วยจัดประเคนรางวัลระดับนานาชาติกับปริญญาต่างๆ เป็นชุดใหญ่ถวายแด่พระราชินี ด้วยความช่วยเหลืออนุเคราะห์จากสหรัฐอเมริกา เช่น รางวัลเหรียญเซเรสจากองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Ceres Medal จาก UN FAO)ในปี 2522 ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ จากโรงเรียนกฎหมายเฟลทเชอร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University’s Fletcher School of Law and Diplomacy) ในปี 2523,รางวัลจากสมาคมสิทธิมนุษชนแห่งเอเซีย Asia Society’s Humanitarian Awards ปี 2523 , รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณเป็นบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็กจากสหพันธ์พิทักษ์เด็ก (Distinguished Service Award จาก Save the Children Federation) ปี 2524

พระราชินีทรงดิ้นรนต่อสู้กับความร่วงโรยตามธรรมชาติ ทรงคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างหนัก และทรงรับการผ่าตัดทำศัลยกรรมเป็นประจำ ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ว่า“ข้าพเจ้าวิ่งจ็อกกิ้ง ทำโยคะ ถ้าฝนตกก็วิ่งขึ้นลงบันไดตึกสามชั้นเก้าเที่ยว ข้าพเจ้าสามารถยอมให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่สามีของข้าพเจ้าบอกว่าเขาไม่ชอบให้ข้าพเจ้าอ้วน” ทรงเสวยยาลดน้ำหนักและยาบำรุงอีกหลายขนาน พร้อมทั้งยานอนหลับเพื่อระงับผลข้างเคียง ต่อข่าวลือที่ว่าพระราชินีทรงประชวรในปี 2526 มล.ทองน้อยอธิบายว่า เป็นเพราะการโหมทุ่มเทงานของพระราชินี ทำให้ทรงเป็นโรคนอนไม่หลับ กว่าจะข่มตาหลับได้ก็ตีสามตีสี่ สองชั่วโมงถัดมาก็ตื่นพระบรรทมแล้ว
ภาพลักษณ์ของพระราชินีย่ำแย่ด้วยการที่ทรงให้การสนับสนุนทหารที่ทะเยอทะยานอย่างพลเอกอาทิตย์ และเรื่องราวที่ลือกันไปทั่วว่าทรงใช้เงินบริจาคไปในการการท่องเที่ยวพักผ่อน ซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับของทั้งพระนางเองและบริวาร โครงการของพระราชินีเป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของวังมากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ทรงแจกจ่ายข้าวของแต่ไม่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของประชาชนมากนัก “พระราชินีสิริกิติ์ทรงสนพระทัยแต่งานสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่ประเด็นการแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ”
พระราชินีสิริกิติ์ยังมีข่าวคาวเรื่องความสัมพันธ์รักๆใคร่ๆในแวดวงของทหารหนุ่มๆระดับนายพันสังกัดกองทหารพิเศษส่วนพระองค์ (คือกรมทหารราบที่21 รักษาพระองค์ที่ชลบุรี โดยเริ่มหลักสูตรทหารเสือราชินีในปี 2524 อาจจะมีสาเหตุมาจากการพยายามก่อรัฐประหารในปีนั้น) โดยพระราชินีทรงหลงไหลนายทหารหนุ่มรายหนึ่งมากเป็นพิเศษคือ พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิเดช ถึงกับให้ตามเสด็จอยู่เสมอในเวลาเสด็จประพาสและในงานปาร์ตี้ นายทหารรายหนึ่งเล่าว่า“เขาเป็นเหมือนพระราชโอรสที่พระราชินีไม่เคยมี และเขามีทุกสิ่งที่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ไม่มี” ผู้คนเชื่อกันว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเป็นพิเศษ ทำให้พระราชวังตกเป็นที่นินทาของชาวบ้าน (พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิเดช เกิดวันที่ 8 สิงหาคม 2490 เป็นผู้ให้กำเนิดหลักสูตรทหารเสือของกรมทหารราบที่21รักษา พระองค์ฯ หรือทหารเสือราชินี แต่งเพลงจากยอดดอย ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ในถิ่นทุรกันดารและเต็มไปด้วยภัยสงคราม เสียชีวิตเมื่อ 21 พฤษภาคม 2528 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะไปศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอเมริกา และปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ ด้วยวัยเพียง 38 ปี ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นปริศนาเนื่องจากปกติท่านเป็นผู้ที่แข็งแรงมากๆ ตื่นเช้าเรียนโดดร่ม ตอนบ่อยเรียนดำน้ำ เย็นเข้าห้องเรียน ดึกตีเทนนิส วิ่งทุกวัน แต่อยู่มาวันหนึ่ง....ก็ตายไปเฉยๆ ท่านเป็นครูฝึกทหาร มีร่างกายที่แข็งแรงมาก ตอนเรียนเตรียมทหาร ชนะเลิศวิ่งมาราทอน 10 กิโลเมตร 3 ปีซ้อน)
ภาพลักษณ์ของพระราชินียิ่งตกต่ำลงไปอีกเมื่อมีเอกสารใต้ดินเผยแพร่เปิดโปงการเสด็จประพาสสหรัฐฯ ของพระราชินีกับฟ้าชายวชิราลงกรณ์เมื่อต้นปี 2523 โดยเรียกการเดินทางครั้งนี้ว่า “67 วัน 100 ล้านบาท” สันนิษฐานว่า พคท. เป็นผู้ปล่อยเรื่องนี้ออกมา โดยมีข้อมูลวงในและรายละเอียดที่ถูกต้องแม่นยำที่น่าเชื่อถือ เอกสารนี้กล่าวหาว่าเหตุผลหลักของการเสด็จครั้งนี้คือเพื่อทำศัลยกรรมพลาสติก เหตุผลที่สองคือการหาเงินเข้ากระเป๋าของพระราชินีเองโดยอ้างการกุศลบังหน้า และเหตุผลที่สามคือการโยกย้ายสมบัติของวังไปต่างประเทศเผื่อพระราชวงศ์ต้องอพยพหนีออกนอกประเทศ เอกสารบรรยายถึงงานระดมทุนขนาดใหญ่ของพระราชินีสิริกิติ์สี่ครั้งในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้เงินไปหลายแสนเหรียญสหรัฐฯ แล้วก็ให้รายละเอียดการซื้อบ้านสองหลังในย่านเศรษฐีแถบแคลิฟอร์เนียใต้สำหรับพระโอรสและพระธิดาของพระนาง รถหรูหลายคันสำหรับบรรดาแฟนสาวของพระโอรสและแหวนราคา2แสนเหรียญสหรัฐฯ(หรือราว 6 ล้านบาท) สำหรับพระราชินีเอง ผู้เขียนใบปลิวอ้างการพบปะกับนายธนาคารที่นิวยอร์คส่อให้เห็นว่าพระราชวงศ์กำลังโยกย้ายทรัพย์สินมาไว้ต่างประเทศ ข้อกล่าวหาเหล่านี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือสำหรับชนชั้นสูงและผู้มีการศึกษาของไทย ที่โน้มเอียงไปในทางที่จะเชื่อเรื่องร้ายๆต่างที่เกี่ยวกับพระราชินีสิริกิติ์
ที่น่าหนักใจมากกว่าก็คือตัวฟ้าชายวชิราลงกรณ์ สิ่งที่เจ้ายุคใหม่ทุกราชวงศ์ตระกูลในโลกนี้พากันหวาดกลัวในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ก็คือตัวรัชทายาทอย่างฟ้าชายนี่แหละ ที่ถือว่าเป็นรัชทายาทที่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์และจะเป็นเหตุให้ราชวงศ์ต้องล่มสลาย ปัญหาต่างๆ เป็นที่รับรู้ก็ดีในปลายทศวรรษ 2510 หลังเสด็จกลับจากการฝึกทหารในออสเตรเลีย ฟ้าชายก็แวดล้อมไปด้วยพวกประจบสอพลอที่จะสนองทุกอย่างที่พระองค์ต้องการ รวมถึงนักธุรกิจมือสกปรก ที่คอยประเคนหญิงสาวและจ่ายเงินให้กับทหารนักเลงที่คอยติดตามทำหน้าที่จัดการคนที่ฟ้าชายไม่สบอารมณ์ ด้วยปืนพกเหน็บเอวที่พร้อมจะมีเรื่องวิวาทได้ตลอดเวลา ฟ้าชายได้รับสมญาว่า เสี่ยโอ โดยที่พระองค์ไม่ได้เคยรู้สำนึกหรือมีความยับยั้งชั่งใจอะไรเลย ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับในหลวงผู้เป็นพระราชบิดาเลยแม้แต่น้อยและยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อพระราชินีสิริกิติ์ทรงบังคับให้ฟ้าชายอภิเษกสมรสกับม.ล.โสมสวลี ผู้คนใจชื้นขึ้นเมื่อโสมสวลีทรงพระครรภ์ในปี 2521 และประสูติพระองค์เจ้าพชรกิติยาภา พระเจ้าหลานองค์แรกของในหลวงภูมิพลในเดือนธันวาคม แต่ในระหว่างที่พระองค์เจ้าโสมสวลีตั้งพระครรภ์อยู่นั้น ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ก็ทรงย้ายออกจากวังใจกลางเมืองไปอยู่วังใหม่ชานเมืองใกล้สนามบินน้ำจังหวัดนนทบุรี ทำนองว่าเพื่อความสะดวกในการเข้าเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารของพระองค์ แต่ก็ไม่เคยย้ายกลับมาอีกเลย เชื่อว่าในช่วงนี้เองที่นายกำพล วัชรพล เจ้าพ่อผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้แนะนำให้ฟ้าชายรู้จักกับสาวกลางคืนและดาราดาวรุ่งที่กลายมาเป็นคู่ขาประจำของพระองค์ ชื่อ สุจาริณี วิวัชรวงศ์ หรือ ยุวธิดา ชื่อเดิมคือยุวธิดา ผลประเสริฐ บางที ก็เป็น ยุวธิดา สุรัสวดี ตอนหลังคือ สุจาริณี วิวัชรวงศ์ ตอนที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับฟ้าชายเปิดเผยมากขึ้น เธอได้รับ