วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

"พรรคคอมมิวนิสต์ไทย"


จับสัญญาณฟื้น"พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย"


วิเคราะห์สถานการณ์

·· จริง ๆ แล้วขณะนี้ พรรคการเมืองทางเลือก กำลังเริ่มต้นก่อตัวขึ้นหลากทางหลายที่มา “เซี่ยงเส้าหลง” ได้ยินมาว่านอกจาก พรรคมหาชน และ พรรคทางเลือกที่สาม – The Third Alternative Party (ที่ยึดแนวทาง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์) แล้วยังมี การเคลื่อนไหว ของ ผู้ปฏิบัติงานมวลชน-งานการเมือง ที่มีฐานการทำงานอยู่ใน ภาคอีสาน ก่อตัวขึ้นมา 2 – 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำงานทางด้าน สหกรณ์การเกษตร ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคประชาชนไทย อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ริเริ่มเรียกร้องให้มีการจัดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ขึ้นมาเพื่อ ปรับองค์กร, ปรับบุคลากร และ กำหนดยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถ้า สำเร็จ ในระยะเวลาจากนี้ไปไม่นานเราอาจได้เห็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสถานการณ์ใหม่ ที่ล้มเลิกยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีเดิม ยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลังอาวุธโดยหนทางชนบทล้อมเมือง มาเป็นยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีใหม่ที่รวม การสมัครรับเลือกตั้งในระบบรัฐสภา ด้วยก็เป็นได้

·· หากไม่ติดยึดแต่ กรอบกฎหมาย ของ พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับต่าง ๆ, รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆแล้วก็ต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยก็คือ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม 2485 นับจนถึงวันนี้เกือบ ๆ จะ 62 ปีเต็ม แล้ว

·· ถือว่าเก่าแก่กว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อ วันที่ 6 เมษายน 2489 อยู่ถึง 4 ปี ทีเดียว

·· ฐานภาพของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย วันนี้แม้จะไม่ถือว่าเป็น พรรคการเมืองตามกฎหมาย เพราะไม่ได้ จดทะเบียน แต่ถือได้ว่าเป็น พรรคการเมืองในทางปฏิบัติ ที่มี อุดมการณ์ชัดเจน คือดำเนินตาม ลัทธิมาร์กซ์, ลัทธิเลนิน และ ความคิดเหมาเจ๋อตง ที่สำคัญคือนับแต่ ปี 2543 เป็นต้นมาที่มีการยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ฐานภาพการรวมตัวกันในลักษณะนี้ ไม่ผิดกฎหมาย อันที่จริงในอดีตสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวช่วงสั้น ๆ เพื่อเอาใจ สหภาพโซเวียต หนึ่งใน แกนนำ ของ สหประชาชาติ ก็ได้ทำให้ สภาผู้แทนราษฎร ของเราในสมัยนั้นมีสมาชิกที่ สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มาแล้ว 1 คน คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร จาก สุราษฎร์ธานี เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกหากในอนาคตจะมี ส.ส.พรรคคอมมิวนิสต์ ขึ้นมาสัก จำนวนหนึ่ง ขณะนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่ผู้คนตั้งแต่ระดับปัญญาชนลงไปจนถึงระดับรากหญ้าจำนวนไม่น้อยที่ยัง คิดถึง การรื้อฟื้น พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขึ้นมาให้เป็น ทางเลือกใหม่ของสังคมไทย ในอนาคตอันใกล้นี้

·· ฐานภาพของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย วันนี้มี ธง แจ่มศรี (ในชั้นต้นใช้นาม ประชา ธัญญไพบูลย์) ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรค ล่าสุดก็อย่างที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยแจ้งให้ทราบแล้วว่า ผู้เฒ่าวัย 83 ที่เคยอยู่อย่าง ปิด เริ่ม เปิด ชนิดน่าจับตาตั้งแต่มาร่วมงาน เพลงปฏิวัติ กระทั่งล่าสุดให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารรายเดือน สารคดี ยาวเหยียด

·· อันที่จริงก่อนหน้านี้ตั้งแต่ ปี 2522 ที่เลขาธิการพรรคคนก่อนหน้าคือ เจริญ วรรณงาม (ในนาม มิตร สมานันท์) มีอันต้อง ถึงแก่กรรม ก็เป็น ธง แจ่มศรี ที่ รักษาการเลขาธิการพรรค แต่มาได้เป็น เลขาธิการพรรค ก็ต่อเมื่อ ปี 2525 นี่เอง

·· การหายหน้าหายตาไปของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มองในมุมหนึ่งเป็นเพราะ แพ้ทางการเมือง ต่อ แนวทางการเมืองนำการทหาร ที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ตั้งแต่ยุคสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ประมาณ ปี 2522 – 2523 แต่มองจากอีกมุมหนึ่งแล้วเกิดจาก ความขัดแย้งภายในพรรค ที่สะท้อนมาจาก ความขัดแย้งในขบวนคอมมิวนิสต์สากล จุดระเบิดเกิดขึ้นในการประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 4 เมื่อ ปี 2525 ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่ขั้นตอน วิเคราะห์สังคมไทย ว่ามีสภาพตัวจริงเป็นอย่างไรกันแน่ระหว่างบทวิเคราะห์เดิม ๆ ที่ท่องกันมาเป็น สูตรสำเร็จ ว่าสังคมไทยคือ กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาฯ กับแนววิเคราะห์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นว่าสังคมไทยคือ ทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้นฯ (ที่มี ฯ ต่อท้ายด้วยก็เพราะประโยคเต็ม ๆ ของทั้ง 2 บทวิเคราะห์คือ กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา – ที่ปัจจัยทุนนิยมเพิ่มมากขึ้น กับ ทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้น – ที่ศักดินาดำรงอยู่) เสียงโหวตขณะนั้นแพ้ชนะกัน ก้ำกึ่ง แต่ศูนย์กลางการนำของพรรคโอนเอนไปทาง กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาฯ ซึ่งเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่ประยุกต์มาจาก จีน ที่เคยวิเคราะห์ สังคมจีนยุคก่อนการปฏิวัติ และผู้นำรุ่นแรก ๆ ของพรรคก็มาจาก พคจ. – พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็น ลูกจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิรัช อังคถาวร หรือ สหายธาร หรือชื่อจีนว่า จางหย่วน ที่กุมการนำในพรรคมาก่อนหน้า ปี 2525 พรรคแก้ปัญหาด้วยการให้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่าง ธง แจ่มศรี ขึ้นมาเป็น เลขาธิการพรรค จากนั้นบทบาทของ วิรัช อังคถาวร ก็ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเขาเดินทางจากประเทศไทยไป รักษาอาการป่วย ที่ จีน ตั้งแต่ ปี 2526 และพำนักอยู่ยาวนานจน ถึงแก่กรรม เมื่อ ปี 2540 นี่เอง

·· สมาชิกพรรคที่มีบทบาทสนับสนุนแนวทางวิเคราะห์สังคมไทยใหม่เป็น ทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้นฯ มาจาก ภาคอีสาน แกนนำสำคัญคือ ลุงสม – อุดม ศรีสุวรรณ กับ ลุงปรีดา – วินัย เพิ่มพูนทรัพย์ โดยมีพันธมิตรเป็น คนรุ่น 14 ตุลา ที่เป็น นายแพทย์คนหนึ่ง มีบทบาทอยู่ใน องค์กรประชาธิปไตย มาตั้งแต่ ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน

·· ปัจจุบัน ธง แจ่มศรี สามัคคีกับ กลุ่มภาคอีสาน ที่มี พลังนำทางปัญญา ในปัจจุบันอยู่ที่ ลุงปรีดา – วินัย เพิ่มพูนทรัพย์ ทำให้สามารถสร้างเอกภาพได้ในหมู่สมาชิกและผู้ปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน แต่ยังไม่สามารถเจาะฐาน กทม., ภาคเหนือ ที่ยังคงยึดถือการนำเดิมของ วิรัช อังคถาวร ได้

·· เพราะแม้ วิรัช อังคถาวร จะ ออกจากประเทศไทย ไปหลายปีจนกระทั่งถึงแก่กรรมไปแล้วแต่ ภรรยา คือ ป้าพึ่ง – สมพร อังคถาวร ยังคงอยู่ในประเทศไทยและ เคลื่อนไหวไม่ขาดสาย โดยมีพันธมิตรเป็น คนรุ่น 14 ตุลาคู่หนึ่ง ที่ถือว่าเป็น ปัญญาชนที่มีความสามารถสูง ฝ่ายชายเคยเข้าไปมีบทบาทใน องค์กรอิสระ และมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ฝ่ายหญิงเป็น อาจารย์สถาบันการศึกษาเอกชน ช่วงปีที่ผ่านมาเกิด ข่าวลือ ในวงการภายในทำนองว่าฝ่ายชายกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็น เลขาธิการพรรค เชื่อว่าน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ธง แจ่มศรี ต้อง เริ่มเปิดตัว ล่าสุดก็เป็นสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายของ ป้าพึ่ง – สมพร อังคถาวร นี่แหละที่เรียกร้องให้เปิดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ขึ้นมา

·· ไม่ใช่เพียงเครือข่ายสายของ ป้าพึ่ง – สมพร อังคถาวร (เห็นการเคลื่อนไหวชัดเจนที่ ชุมพร และที่ น่าน) เท่านั้นที่เรียกร้องให้เปิดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ยังมี สายอีสานบางส่วน ที่ต้องการ ความชัดเจน จาก ผู้นำรุ่นอาวุโส อีกด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไร

·· อันที่จริง ธง แจ่มศรี ในวัย 83 ปี ก็มีท่าทีว่าจะ หยุดการเคลื่อนไหว, ถอดหัวโขน แต่อยู่ระหว่างหาหนทางดีที่สุดใน การส่งมอบอำนาจ แต่ติดปัญหาที่พันธมิตรสำคัญที่เป็น นายแพทย์ คนนั้นโดยรวมแล้ว ไม่ได้รับการยอมรับ เล่ากันว่าลึก ๆ แล้วแม้แต่ ลุงปรีดา – วินัย เพิ่มพูนทรัพย์ ก็ ไม่ยอมรับ แต่จะด้วยปัญหาใดนั้น “เซี่ยงเส้าหลง” เป็น คนนอก ยากจะรู้ได้

·· จากการให้สัมภาษณ์ของ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ต่อ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่กำลังวางแผงอยู่นี้มีข้อมูลน่าสนใจว่าเมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2547 ใน กทม. มีการชุมนุมสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถึง กว่า 200 คน ในงาน ขึ้นบ้านใหม่ผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 และแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็คือ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในอนาคตไม่ว่าจะใน ชื่อเดิม หรือ ชื่อใหม่ น่าจะเป็น พรรคเปิด, พรรคบนดิน ไม่ใช่ พรรคปิด, พรรคใต้ดิน และมีโอกาสจะเป็น พรรคทางเลือก ได้อีกพรรคหนึ่ง

·· แต่ก่อนจะมี สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ขณะนี้สมาชิกและผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่งใน ภาคอีสาน ก็เคลื่อนไหวในนามที่รู้จักกันว่า พรรคปลดหนี้ และเริ่มเข้าไปเป็น ฐานกำลัง ให้กับ พรรคมหาชน ที่เชื่อกันว่าจะ ชิงที่นั่งในภาคอีสาน ได้ หลายที่ เหมือนกัน

·· อันที่จริง พรรคมหาชน นี่ก็ แปลก ส่วนหัวเป็นการผสมผสานระหว่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์, วัฒนา อัศวเหม, นพดล ธรรมวัฒนะ และ ฯลฯ ที่ดูภายนอกแล้ว ชื่อเสียงไม่ดี แต่ในส่วนของ ผู้ปฏิบัติงานมวลชน กลับมีจำนวนหนึ่งที่มาจากเครือข่ายของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และแม้แต่แนวนโยบาย รัฐสวัสดิการก้าวหน้า ก็เป็นการประยุกต์แนวทาง สังคมนิยม ที่ร่วมคิดร่วมเสนอแนะโดย ปัญญาชนที่มีความสามารถสูง พันธมิตรหลักของ ป้าพึ่ง – สมพร อังคถาวร หรือแม้แต่คนที่มีภาพ เจ้าพ่อ อย่าง วัฒนา อัศวเหม คนทำงานพื้นฐานให้เขาส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็มาจากสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานเก่าของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรื่องนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” ได้ยินมาว่าแม้แต่ นักทฤษฎีคนสำคัญในอดีต เจ้าของนาม ชาญ กรัสนัยปุระ ก็อยู่ในเครือข่ายนี้โดยทำหน้าที่ ดูแลธุรกิจ ในเขตเมือง คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้

·· แท้จริงแล้ววัฒนา อัศวเหม สมัครสมานสามัคคีมานานกับ สังข์ พัธโนทัย (บิดาของ ดร.มั่น พัธโนทัย) ผู้เป็น มิตรสนิท ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคเริ่มต้นก่อตั้งระบอบใหม่

·· ถ้ามีการเปิดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 ขึ้นมาก่อนจะไปถึงเรื่อง กรรมการชุดใหม่, เลขาธิการคนใหม่, ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีชุดใหม่ ที่น่าจับตาเป็นปฐมคือ การวิเคราะห์สังคมไทย ที่ค้างคามาแต่ ปี 2525 ที่ยังตกลงกันไม่เป็นเอกฉันท์ว่ายังคงเป็น กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา – ที่ปัจจัยทุนนิยมเพิ่มมากขึ้น หรือพัฒนาขึ้นมาเป็น ทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้น – ที่ศักดินาดำรงอยู่ จนถึง ปี 2547 ที่มี ทักษิโณมิค แล้วจะ ลงเอย อย่างไร

·· อาจจะมองเห็นว่า ไร้ความหมาย สำหรับการเคลื่อนไหวฟื้นตัวของ พคท. – พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรื่องนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” ยอมรับว่า จริง หากพิจารณาเฉพาะ สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังคงอยู่ใน กระแสสูง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พรรคไทยรักไทย แต่หากมอง ระยะยาว ไปถึง ยุคหลังทักษิณ-ไทยรักไทย ที่อาจจะเป็น 4 ปีข้างหน้า หรือ 2 – 3 ปีข้างหน้า หรือ ระยะยาวกว่า ไปถึง ยุควิกฤตสังคมไทย ที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะ การเปลี่ยนแปลงบางประการในช่วง 10 ปีขึ้นไป ก็ต้องถือว่านี่เป็น ฐานกำลังที่น่าพิจารณาและ สมัชชาพรรคครั้งที่ 5 จะเป็น จุดเริ่มต้น ของบางสิ่งบางอย่าง