วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ต่อ

เหนื่อยหน่ายกับการซักถามของทนายก็ขู่ว่าจะแฉเรื่องทั้งหมดถ้ายังบังคับให้ต้องแสดงละครต่อไปอีก
ท่ามกลางเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมัวจดจ่อเรื่องยุ่งเหยิงจนไม่ทันได้ทรงสังเกตว่าพระราชินีสิริกิติ์ทรงเริ่มออกอาการมีปัญหา นอกจากขบวนผู้ติดตามขนาดใหญ่ตามปกติแล้วพระราชินียังทรงผิดหวังอย่างมากจากการที่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ทิ้งโสมสวลีผู้เป็นหลานสาวของพระองค์ โดยฟ้าชายทรงแสดงชัดถึงการปฏิเสธโสมสวลีในการพระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อไทยในกลางปี 2527 ว่าพระองค์ต้องทุ่มเทให้กับบทบาทการเป็นทหารอาชีพที่มีวินัยเข้มงวดและเข้ารับใช้อุทิศตนให้กับพระเจ้าอยู่หัวและประเทศชาติในฐานะว่าที่กษัตริย์ในอนาคต โดยพระองค์ไม่เอ่ยถึงพระชายาเลย ทำให้ครอบครัวของโสมสวลีและผู้สนับสนุนพากันเดือดดาลต่อทั้งฟ้าชายและพระราชินี และยังมีเรื่องวุ่นๆเพิ่มเข้ามาอีกคือเรื่องขัดแย้งระหว่างพลเอกเปรมกับพลเอกอาทิตย์ เรื่องแชร์แม่ชม้อยที่ล้มไม่เป็นท่า โดยมีเสียงซุบซิบเซ็งแซ่ในกรุงเทพฯว่าพระราชินีสิริกิติ์ทรงมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยและยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนในเหมืองทองที่แคลิฟอร์เนียของทูลกระหม่อมอุบลรัตนกับนายเจนเส่นผู้เป็นสามี ซึ่งดูเหมือนจะพัวพันถึงคนอื่นๆในพระราชวงศ์ด้วย ซึ่งงานนี้ได้เงินกู้ก้อนโต ถึง400 ล้านบาทจากธนาคารไทยพาณิชย์ (ราวปี 2526 ปีเตอร์ เจนเซ่น สามีของอุบลรัตน์ ร่วมกับนักการเงินที่แคลิฟอร์เนีย ชื่อ นายริชาร์ด ไซเบอร์แมน Richard Siberman ลงทุนในกิจการเหมืองที่เมืองยูบา Yuba Natural Resources ที่จะถลุงทองคำจากหางแร่ในแม่น้ำยูบา Yuba ที่แคลิฟอร์เนีย ธนาคารไทยพาณิชย์ให้เงินกู้แก่นายเจนเซ่นไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากๆ ผลคือไม่มีทองคำ และเงินกู้ก็กลายเป็นหนี้เสียไปภายในเวลาสองหรือสามปี ในราวปี 2532 บริษัทนี้ถูกขายให้กับอีกบริษัทหนึ่ง ) จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2528 มีข่าวพันโทณรงค์เดช นันทโพธิเดช ขวัญใจของพระราชินีเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในสหรัฐฯ ทั้งๆที่เป็นคนหนุ่มที่แข็งแรงมากโดยมีข่าวลีอว่าเขาถูกฆาตกรรม ความโศกเศร้าของพระราชินีกลายเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ในงานศพของพันโทณรงค์เดชที่ระดับสูงในกองทัพและรัฐบาลเข้าร่วม พระราชินีทรงจัดทำหนังสืองานศพที่มีรูปถ่ายของทั้งสอง จากนั้นก็มีสารคดีโทรทัศน์ยกย่องเชิดชูณรงค์เดช ซึ่งก็เผยถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพวกเขาทั้งสอง ที่บางคนถึงกับหาว่าอาจเป็นชู้รักกัน
เดือนต่อมา สุจาริณีคลอดลูกชายอีกหนึ่งคน ตอนนี้ทางวังต้องทำเป็นยอมรับหม่อมสุจาริณีผู้เป็นแม่ของหลานกษัตริย์ถึงสี่คน และเธอยังต้องการลูกชายอีกหนึ่งคนเพราะว่าพระหมอดูรายหนึ่งได้ทำนายว่าหากเธอมีลูกกับฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นเพศชายห้าคน เธอจะได้เป็นราชินีซึ่งเรื่องนี้ถูกถือเป็นจริงเป็นจังในแวดวงชาววัง เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้กับการรัฐประหารลึกลับในเดือนกันยายน 2528 ได้ทำให้พระราชินีสิริกิติ์ทนต่อไปไม่ได้และถึงกับระเบิดออกมาในตอนปลายปี ต้องเสด็จเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาที่เรียกว่า diagnostic curettage” (การควักเอาชิ้นเนื้อเยื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ) ทรงหายหน้าหายตาจากสาธารณะไปเป็นเวลาหกเดือน กล่าวกันว่าในหลวงภูมิพลทรงแยกพระราชินีออกจากบริวารแวดล้อมด้วยพระองค์เองและต้องเสวยอาหารบำรุงสุขภาพ ข่าวลือแพร่ไปว่าทรงประชวรหนัก กระทั่งอาจถึงสิ้นพระชนม์ ในที่สุด พระราชินีก็ทรงหวนคืนเวทีในเดือนกรกฎาคม 2529 ในงานพระราชพิธีฉลองเสาหลักเมืองของกรุงเทพฯ ทรงดูเซื่องซึมขาดชีวิตชีวา แล้วก็ทรงหายไปอีกสามสัปดาห์ กระทั่งไม่เสด็จในพระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษา 12 สิงหาคม 2529 ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์จึงทรงทำหน้าที่แทน ทรงออกโทรทัศน์ตรัสยกย่องพระราชินีว่าทรงเป็นยอดหญิงผู้อุทิศตนและเสียสละ “ตั้งแต่ทรงเข้ารับการผ่าตัดในปี 2528 แม่ก็มีอาการดีขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้แม่ออกกำลังกายเป็นประจำ และกระทั่งข้าพเจ้าอายุน้อยกว่าแม่ถึง 25 ปีก็ยังทำไม่ได้เท่า ถ้าประชาชนจะโกรธเคืองเพราะการที่แม่หายหน้าไปจากสาธารณะ พวกข้าพเจ้า(ลูกๆ)ก็สมควรได้รับการตำหนิ เนื่องจากพวกข้าพเจ้ายืนกรานให้แม่ได้พักผ่อนไม่ต้องออกงาน ปกติทุกๆ คนล้วนมีวันหยุด แต่แม่ไม่เคยมีเลย” ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ตรัสว่า พระราชินีสิริกิติ์ทรงตื่นนอนเวลาประมาณ 10-11 โมงเช้าทุกวัน และทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน “ถ้าแม่นอนไม่หลับ ก็จะทำงานไปจนถึงเช้า พอแต่ลืมตาตื่น แม่ก็ไม่มีเวลาสำหรับอะไรอย่างอื่นนอกจากงาน ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินแม่พูดว่าเหนื่อยเลย”
ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ใช้โอกาสนี้กล่าวถึงบางเรื่องที่ร่ำลือกันมานานและภาพลักษณ์พระราชวงศ์อลเวงที่ประชาชนเฝ้าติดตามชม ทรงปฏิเสธข่าวลือที่ว่าพระราชินีสิริกิติ์ทรงครอบงำพระราชวงศ์
“เราทั้งหมดทำงานให้พ่อ เพราะเรามีความจงรักภักดี ในครอบครัวเราไม่มีใครต้องการความนิยมส่วนตัว ทุกคนช่วยกันทำงานและเราทำงานเป็นทีม แต่ก็มีคนพูดว่าครอบครัวของเราแบ่งเป็นสองฝ่าย ซึ่งไม่จริงเลย” และเพื่อเป็นการพิสูจน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2529 เมื่อพระราชินีสิริกิติ์มีพระอาการดีขึ้นพอที่จะรับแขกมาอวยพรได้ (คนแรกคือพลเอกเปรม) งานนี้ถูกจัดให้เป็นราวกับพิธีกรรมทางศาสนา พระราชินีทรงโทษว่าอาการประชวรของพระองค์เป็นผลมาจากความเหนื่อยล้ากับเป็นคราวเคราะห์ และทรงยกย่องความสูงส่งของพระองค์เองด้วยการตรัสว่าคนที่สวดภาวนาให้พระองค์จะได้บุญมาก “หากข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องทางสายกลาง ข้าพเจ้าก็คงจะไม่เจ็บป่วยและเสียเวลาไปมากมายอย่างนี้” พระราชเสาวณีย์เหล่านี้แสดงถึงความสำคัญของดวงดาวที่วังเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างการประชวร แต่อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ คนไทยก็สนใจเรื่องในวังน้อยลงไปมาก และตั้งคำถามมากขึ้น ในทศวรรษ 2520 การศึกษาที่กว้างขวางขึ้นและความเจริญทางเศรษฐกิจได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นมาเป็นจำนวนมากที่ยึดคุณค่าและการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากความคิดและความเชื่อของในหลวงภูมิพลกับพลเอกเปรม ประชากรในเมืองมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ การค้าและการอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่กว่าการเกษตร โดยมีแรงผลักดันจากการส่งออกไปตลาดโลกเป็นสำคัญ คนงานโรงงานในเมืองมีจำนวนนับล้านๆคน ชีวิตของพวกเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของพลังอื่นๆ เช่น ทุนต่างชาติ การแข่งขันและบริโภคนิยม มากกว่าพลังแผ่นดินหรือพลังของพระเจ้าแผ่นดิน
ในช่วงเวลาเดียวกัน นักศึกษาที่เคยต่อสู้กับเผด็จการทหารในยุคทศวรรษ 2500 และ 2510 ก็เติบโตขึ้น กลายเป็นคนทำงานบริษัท ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นอาจารย์ สื่อมวลชน นักการเมือง นักร้องและนักเขียน และอยู่เบื้องหลังกิจกรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำงานในประเด็นความยากจน การศึกษา สิ่งแวดล้อม อันเป็นอาณาบริเวณที่รัฐบาลกับวังถือเป็นพื้นที่ฐานเสียงของตนยิ่งกว่านั้น หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี คนไทยจำนวนมากรู้สึกเบื่อหน่ายลีลาการลอยตัวเหนือปัญหาและปิดปากเงียบของพลเอกเปรม พวกเขาวิจารณ์พลเอกเปรมอย่างเปิดเผยว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะพลเอกเปรมไม่ยอมตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับการบริหารประเทศหรือแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องอื้อฉาวกับความผิดพลาดล้มเหลวต่างๆ เรียกว่าเป็นรัฐบาลเตมีย์ใบ้ คือไม่ยอมพูด เอาแต่ถวายรายงานต่อพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นเจ้าของประเทศตัวจริงเท่านั้น ชนชั้นกลางรุ่นใหม่คาดหวังการปกป้องจากกฎหมายที่เป็นระบบและมีตัวบทชัดเจนมากกว่าการปกป้องจากระบบสังคมแบบพ่อขุนอุปถัมภ์และระบบศักดินาคลั่งเจ้าที่รัฐบาลทหารให้การเชิดชู และพวกเขาก็ปฏิเสธการกุมอำนาจของกองทัพที่เอาแต่อ้างภัยคอมมิวนิสต์ สัญญาณอัน หนึ่งที่บ่งบอกถึงความรู้สึกนี้คือชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่ผิดคาดในปี 2528 ของพลตรีจำลอง ศรีเมือง เบอร์ 8 ในนาม “ กลุ่มรวมพลัง ” โดยได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน เป็นอดีตยังเติร์กและเลขานุการนายกฯ ของพลเอกเปรม ผู้หันหลังให้กับการเมืองภายในกองทัพและกลายมาเป็นคนธัมมะธัมโม ที่ใช้ชีวิตสมถะ ละกามารมณ์ ไม่กินเนื้อสัตว์ และไม่นอนบนฟูก กลุ่มศาสนาที่เขาสังกัดคือสันติอโศก ที่ถือว่าวงการสงฆ์กระแสหลักไม่มีความเข้มงวดจริงจัง เอาแต่แสวงหาทรัพย์และลาภยศ (ในปี 2531 จึงก่อตั้ง พรรคพลังธรรม ขึ้น โดยสื่อมักเรียกขานกันว่าเป็น “ พรรคพลังผัก ” เนื่องจากสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส “ จำลองฟีเวอร์ ” และเรียกกันติดปากว่า " มหาจำลอง " ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน) การชนะเลือกตั้งของพลตรีจำลองเป็นสัญญาณแสดงถึงการที่คนเมืองปฏิเสธรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้การบริหารของพลเอกเปรมซึ่งทำให้เมืองหลวงสกปรกเละเทะ รถติดและมีมลพิษ พลตรีจำลองหาเสียงด้วยภาพของความซื่อสัตย์และความกระตือรือร้น บอกถึงความล้มเหลวของโครงสร้างระดับอำนาจอันมีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงอยู่บนยอดสุดโดยมีพลเอกเปรม กองทัพและราชการเรียงลำดับลดหลั่นกันลงมา
ในปี 2529 การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนปรากฏชัดเมื่อพลเอกเปรมแทบจะล้มพังพาบจากศึกในสภา พลเอกเปรมรับมือด้วยลีลาแบบป๋าอุปถัมภ์และการก่อตั้งกลุ่มการเมืองของตนเอง โดยให้พลอ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของตนเข้ายึดพรรคกิจสังคมหลังจากมรว.คึกฤทธิ์ อำลาเวทีไป และให้พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ เพื่อนอีกคนหนึ่งตั้งพรรคราษฎรขึ้นมาเพื่อเป็นฐานให้กับตนเอง ซึ่งดูขัดแย้งกับทัศนคติศักดินาบูชาเจ้าของในหลวงและพลเอกเปรมที่รังเกียจระบบรัฐสภาแต่ดันมาเสริมความชอบธรรมของการเมืองระบบรัฐสภาด้วยการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานสนับสนุนตนเองในสภา และทำให้วังกลายเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในสภาอย่างอ้อมๆ เปิดช่องให้มีโอกาสถูกท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ภายในเวลาสองเดือน สภาก็เล่นงานพลเอกเปรมอีก พอต้นเดือนพฤษภาคม พลเอกเปรมต้องเสนอให้ในหลวงภูมิพลยุบสภาและประกาศเลือกตั้งใหม่แต่ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในกองทัพก็เกิดขึ้นมาอีก พลเอกอาทิตย์รู้ทันเกมการสร้างพรรคของพลเอกเปรมว่าหมายถึงการที่พลเอกเปรมจะไม่ยอมลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เมื่อพลเอกอาทิตย์ขู่จะก่อการรัฐประหาร วังก็แสดงความชัดเจนออกมาว่าการต่อต้านพลเอกเปรมก็เท่ากับการต่อต้านวัง อย่างแรกที่วังแสดงออกคือ ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เสด็จเยี่ยมพลเอกเปรมที่บ้านอย่างเปิดเผย แทนที่พลเอกเปรมจะเป็นฝ่ายไปเข้าเฝ้าตามธรรมเนียม สองสามสัปดาห์ต่อมา ในหลวงภูมิพลก็พระราชทานยศพล.อ.อ. กับ พล ร. อ. ให้แก่พลเอกเปรม ซึ่งปกติแล้วการมียศหลายตำแหน่งจะสงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น และขณะที่พลเอกเปรมอยู่ในฐานที่มั่นที่นครราชสีมาก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการฯ ปลดพลเอกอาทิตย์ ออกจากตำแหน่งผบ.ทบ.ซึ่งถือเป็นจุดจบทางการเมืองของพลเอกอาทิตย์ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความอยู่รอดของพลเอกเปรม การรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองหัวก้าวหน้าพุ่งเป้าโจมตีพลเอกเปรมที่ไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งกองทัพที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและเป็นทหารการเมือง แต่พลเอกเปรมก็ไม่สะทกสะท้านเพราะเขาได้ยึดเอาพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นแบบอย่างคืออ้างว่าเขามีความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง ถึงแม้ว่าบริวารส่วนตัวของพลเอกเปรมจะจัดการดูแลพรรคการเมืองอยู่ก็ตาม แต่ในหลวงและพลเอกเปรมก็มีความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการปล่อยข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการให้พลเอกเปรมเป็นนายกอย่างน้อยจนกว่าจะผ่านงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ชันษาในปี 2530 ไปก่อน และจากนั้นก็เป็นการเฉลิมฉลองวาระการขึ้นครองราชย์ที่ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในปี 2531(รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ขณะทรงมีพระชนม์เพียง 16 ปี โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ -ช่วง บุนนาค เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2416 เสด็จสวรรคตเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมระยะเวลาครองราชย์ 42 ปี 22 วัน ขณะที่รัชกาลที่ 9 ครองราชย์วันที่ 9 มิถุนายน 2489 และจะครองราชย์นานเท่ากับรัชกาลที่ 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531)

ผลการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคมออกมาไม่มีพรรคใดชนะโดยเด็ดขาด พรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด 100 จาก 347 เสียงคือประชาธิปัตย์ ที่มีภาพลักษณ์สะอาดที่สุดและโจมตีพันธมิตรเปรม-วัง-กับกองทัพหนักหน่วงที่สุด พรรคประชาธิปัตย์จึงมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค นายพิชัย รัตตกุล แต่แล้วนายพิชัยก็ศิโรราบแก่พลเอกเปรม ซึ่งทำให้คนในพรรคโกรธแค้นมาก ส่วนใครจะเป็นคนไปเกลี้ยกล่อมนายพิชัยอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดากันไปต่างๆ นานา พรรคร่วมรัฐบาลของพลเอกเปรมประกอบด้วยประชาธิปัตย์ ชาติไทย และพรรคของพลเอกเปรมเองคือ กิจสังคมกับราษฎร แล้วพลเอกเปรมก็หักหลังประชาธิปัตย์ด้วยการตั้งคนของตนเองเข้ามาในคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยถูกยกให้อดีตผู้นำกระทิงแดงพล ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ที่ส่งตำรวจเตรียมพร้อมรับมือทันทีที่มีนักศึกษาบางคนออกมาประท้วง ไม่ต่างจากยุคขวาพิฆาตซ้ายในปี 2519 เลย กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารอันเป็นกระทรวงเกรดเอที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุดตกเป็นของดาวรุ่งคนใหม่ของพรรคชาติไทยชื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา หลงจู๊ผู้รับเหมาที่ไม่ชอบการอดอยากปากแห้งที่มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคกลาง พลเอกเปรมกับวังคุมการเมืองไว้ได้อีกครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องใช้กำลัง และทำให้หลายคนได้เห็นว่า “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจโดยสมาชิกสภา แต่ตัดสินโดยกองทัพ วังและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ” เมื่อพลเอกเปรมชนะศึกไปได้อีกยกหนึ่ง ก็ยังได้ช่วยประคองภาพลักษณ์ของฟ้าชายแม้ว่าจะทรงผลักไสไล่ส่งโสมสวลีออกไปแล้วก็ตาม ฟ้าชายดูเหมือนว่าได้ทรงทำข้อตกลงไว้กับในหลวง คือถ้าฟ้าชายทำตัวดีและถ้าหม่อมสุจาริณีสามารถยกระดับตัวเองจากกำพืดอันต่ำต้อยได้ เธออาจได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวงศ์ ฟ้าชายลงทุนเสด็จออกเยี่ยมเยียนคนยากคนจนหลายครั้ง ทรงทำบุญตามวัดในต่างจังหวัดและพระราชทานปริญญาบัตรตามสถาบันการศึกษามากขึ้น ทรงนำพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 9 ไปแจกจ่ายให้จังหวัดต่างๆ อันเป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เพื่อแผ่ขยายบารมีของพระเจ้าอยู่หัวให้ครอบคลุมไปทั่วพระราชอาณาจักรทรงประทับเคียงข้างพระราชบิดาในการรับถวายสาส์นตราตั้งจากนักการทูตที่เพิ่งมาใหม่และเสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2530 เสด็จเป็นตัวแทนพระเจ้าอยู่หัวไปเยือนจีน ในการเสด็จออกงานเหล่านี้ มักจะมีหม่อมสุจาริณีเดินตามห่างๆอย่างสงบเสงี่ยมเยี่ยงชาววังที่ดี
กลางปี 2529 ฟ้าชายวชิราลงกรณ์พระราชทานสัมภาษณ์อย่างยืดยาวแก่หนังสือสารดิฉัน เป็นนิตยสารแฟชั่นและการใช้ชีวิตชั้นนำสำหรับชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเจ้าของนิตยสารคือ นายปีย์ มาลากุล จากตระกูลที่รับใช้ในหลวงภูมิพลมายาวนาน นายปีย์เป็นเหมือนผู้ชำนาญการประชาสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการของพระราชวัง บทสัมภาษณ์ยาว 32 หน้าพร้อมทั้งรูปถ่ายที่ถ่ายในวังใกล้สนามบินน้ำเมืองนนท์ เนื้อหาบรรยายถึงฟ้าชายวชิราลงกรณ์ว่าเป็นเจ้าชายที่ทุ่มเททำงานหนัก อุทิศตนเพี่อพระราชบิดาและประเทศชาติโดยแทบไม่มีเวลาแสวงหาความเพลิดเพลิน ใจความ หลักของบทสัมภาษณ์อยู่ที่การยอมรับถึงลูกทั้งสี่คนที่เกิดจากหม่อมสุจาริณี โดยโสมสวลีถูกตัดขาดออกไป แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ แต่ฟ้าชายก็ทรงโจมตีโสมสวลีว่าไม่เหมาะสมที่จะแต่งงานกับพระมหากษัตริย์ในอนาคต เพราะไม่สามารถร่วมแบ่งปันและมีส่วนร่วมในชีวิตและภารกิจของพระองค์ตลอดจนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงตรัสว่าการแต่งงานครั้งนั้นคือความผิดพลาดที่เกิดจากการเร่งรีบ และตอนนั้นเธอยังเป็นวัยรุ่น จึงไม่พร้อมแม้กระทั่งในทางกายภาพสำหรับความสัมพันธ์กับผู้ชาย ซึ่งพระองค์ไม่ได้ขยายความในประเด็นนี้ว่าคืออะไร
ขณะที่ทรงปฏิเสธเรื่องฉาวโฉ่ต่างๆ ได้ตรัสถึงภาพลักษณ์ของพระองค์ว่าคนมีชื่อเสียงทุกคนล้วนต้องทนกล้ำกลืนกับปัญหาของการซุบซิบนินทาและการที่มีคนเอาพระนามไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ นี่คือความทุกข์ที่พระองค์ต้องทรงกล้ำกลืนในการรับใช้พระราชบิดา และรับมือด้วยการละวางตามแบบพุทธ “บางทีในชาติปางก่อน เราอาจไม่ได้ทำบุญมากพอ หรือบางทีในบางครั้งเราทำอะไรที่น่าตำหนิ เรายอมรับ... ถ้าหากสวรรค์คิดว่าเราไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการทำหน้าที่ของเรา ก็หยุดและจบ ถ้าท่านคิดได้อย่างนี้ท่านก็จะสบายใจ ท่านไม่ได้คิดเป็นอะไร หากสวรรค์ให้ท่านมีภารกิจต่อแผ่นดิน ก็ยอมรับ ถ้าเขาไม่ต้องการให้ทำงาน ก็โอเค” ผู้อ่านส่วนใหญ่คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเห็นใจฟ้าชาย แต่บทสัมภาษณ์นี้ทำให้ฝ่ายโสมสวลีโกรธจัดเป็นเจ้าเข้า การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นขั้นตอนที่จัดไว้เพื่อที่จะยกหม่อมสุจาริณีให้มาแทนที่โสมสวลี โดยดูเหมือนจะได้ไฟเขียวจากพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ที่จริงการยกฐานะหม่อมสุจาริณีมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะตอนที่ฟ้าชายพระราชทานสัมภาษณ์นั้น เธออุ้มท้องได้สามเดือนแล้ว
ปลายปี 2529 ในหลวงภูมิพล พร้อมทั้งบริวารในวังและพลเอกเปรมมีเวลาได้พักสบายใจอยู่พักหนึ่งหลังชนะศึกทางการเมืองและเรื่องวุ่นๆในพระราชวงศ์มาได้ พวกเขามุ่งความสนใจไปที่การฉลองพระชนมพรรษาครบ 60 ชันษาของในหลวงภูมิพล ซึ่งจะเป็นหัวใจของงานเฉลิมฉลองนาน 20เดือนสำหรับรัชกาลที่ 9 และระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของประเทศโดยมีพลเอกเปรมเป็นตัวแทนของราชวงศ์ บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองเริ่มตลบอบอวลไปทั่วแล้วเมื่อในหลวงภูมิพลทรงเดี่ยวไมโครโฟนและทรงร่ายยาวในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา บรรดาผู้ชมผู้ฟังที่มีพลเอกเปรมกับคณะรัฐมนตรี ทหารและข้าราชการระดับสูงอื่นๆ ที่ฟังมั่งไม่ฟังมั่งจนถึงตอนที่ในหลวงภูมิพลมีพระราชดำรัสว่า “น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องไหลต่อไป และน้ำที่ไหลจะต้องมีการเปลี่ยนถ่าย” ทรงตรัสต่อไปด้วยพระพักต์นิ่งตามแบบฉบับของพระองค์ “ในช่วงชีวิตของเรา เราปฏิบัติหน้าที่ของเรา เมื่อเราเกษียณ ก็จะมีคนอื่นมาแทน ไม่มีใครจะยึดอยู่กับภารกิจเดียวได้ตลอดไป วันหนึ่งก็จะแก่ตัวและตายไป” พระราชดำรัสนี้ทำให้เกิดความสะท้านสะเทือนขึ้นทันทีทันใด การที่ในหลวงได้มีรับสั่งว่าพระองค์อาจสละราชบัลลังก์ในเวลาอีกไม่นานนัก มันเป็นเรื่องน่าใจหาย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ในทศวรรษ 2520 นั้นไม่เคยรู้จักพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นเลยนอกจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ราวกับว่าพระองค์คงจะครองราชย์ไปเรื่อยๆตราบชั่วกัลปาวสานต์ ประชาชนชาวไทยก็ถูกสอนและกรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ปกปักรักษาแผ่นดินนี้ ถ้าไม่มีในหลวงก็จะไม่มีประเทศไทย แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้เรื่องคำทำนายโบราณว่าราชวงศ์จักรีจะมีกษัตริย์แค่เก้าพระองค์ และเมื่อนึกถึงภาพฟ้าชายวชิราลงกรณ์ได้เป็นรัชกาลที่ 10 แล้ว นี่หมายถึงความปั่นป่วนโกลาหลหรือความวิบัติหายนะที่จะบังเกิดขึ้น
พระราชดำรัสของในหลวงเท่ากับเป็นการส่งสัญญานบอกใบ้ล่วงหน้า และทางพระราชวังก็ยอมรับว่าพระองค์อาจจะถึงกับสละราชบัลลังก์หลังจากการเฉลิมฉลองสถิติการเสวยราชย์นานที่สุดในประเทศในเดือนกรกฎาคม 2531 ได้ผ่านพ้นไป แต่ในหลายเดือนต่อมา มรว.ทองน้อย ทองใหญ่เลขาธิการคณะองคมนตรีกับท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะผู้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณหลายด้าน ก็ชี้แจงว่าการสละราชบัลลังก์ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในหลวงภูมิพลไม่สามารถสละราชบัลลังก์ได้จริงๆ พระองค์อาจทรงผนวช(บวชเป็นพระ)โดยที่ยังไม่ทิ้งเรื่องของชาติบ้านเมือง ในหลวงจะไม่สละราชบัลลังก์ ถ้าหากการสละราชบัลลังก์หมายความถึงการละทิ้งความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง...เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าพระราชโอรสมีวัยอันเหมาะสมและพร้อมที่จะรับช่วงงานทั้งหลายแล้ว พระองค์ก็อาจจะเข้าวัด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแค่พระสงฆ์ สิ่งสำคัญคือพระองค์จะยังคงประทับอยู่ตรงนั้น คือประทับอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์และทรงช่วยเหลือพระราชโอรสแก้ปัญหาต่างๆ
คำพูดของมรว.ทองน้อยยังเป็นการยืนยันว่าราชบัลลังก์จะตกเป็นของฟ้าชายวชิราลงกรณ์ที่ได้ทรงเร่งขย้นออกงานและมีถ้อยแถลงที่ดูสูงส่งมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพระองค์เป็นธรรมราชาได้ ในเดือนมิถุนายน 2530 ฟ้าชายวชิราลงกรณ์พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงตอบคำถามในการสัมภาษณ์อย่างมีการเตรียมบทมาแล้ว จึงไม่มีการเปิดเผยอะไรมากนัก ทรงย้ำว่าพระองค์เป็นคนธรรมดาที่ทำหน้าที่รับใช้พระราชบิดาผู้ที่ได้ทรงสร้างประเทศให้เป็นปึกแผ่นมาถึง 40ปี ความสำเร็จของพระราชบิดาเป็นผลมาจากการที่ทรงยึดมั่นในหลักทศพิธราชธรรม มีบทสัมภาษณ์ฟ้าชายในหนังสือดิฉันในเดือนถัดไปความยาว20 หน้าพร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ทั้งในชุดนักบินกับชุดวิ่งจ็อกกิ้ง อันเป็นภาพของเจ้าชายชาติทหารผู้เอาการเอางาน ทรงตรัสถึงความทุกข์เข็ญของชาวบ้านยากจนทางภาคใต้ที่พระองค์เพิ่งได้เสด็จไปเยือนซึ่งถูกละเลยจากทางราชการ ทรงตรัสถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่รัฐบริหารผิดพลาดว่าทำให้พระนามของพระองค์ต้องด่างพร้อย ทรงเน้นความสัมพันธ์อันวิเศษระหว่างประชาชนกับพระราชวงศ์ ว่าถึงแม้ประชาชนจะยากจนหรือเจ็บป่วยเพียงใด ไม่ว่าหนุ่มสาวหรือเฒ่า ก็ยังมารับเสด็จพระองค์ด้วยพวงมาลัยที่ทำด้วยมือของตนเองกับของฝากอื่นๆ ตลอดการเสด็จครั้งนี้ทำให้พระองค์เกิดความสนพระทัยในความเป็นไปของบ้านเมือง “เราอยากออกไปพบปะกับประชาชนอีก จริงๆ แล้วอยากเดินไปให้ทั่วทั้งประเทศไทย” พระดำรัสของฟ้าชายดูคล้ายพระราชบิดาเข้าไปทุกทีคงเชื่อมั่นว่าจะเจริญรอยตามพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นเจ้าชีวิตของประชาชนไทย ผู้สัมภาษณ์ถามเรื่องภาพลักษณ์ของฟ้าชายต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ฟ้าชายทรงตอบอย่างระมัดระวังว่า “เรามีคนชอบ มีคนไม่ชอบ มันเป็นสิทธิของเขา ที่ไหนๆ ก็มีเรื่องซุบซิบนินทา ถ้ามัวแต่วุ่นวายอยู่กับเรื่องซุบซิบนินทา ก็ไม่เป็นอันทำงาน แต่ใครที่ซุบซิบนินทา ถ้าต้องการรู้ความจริง ถ้าอยากถามเรา และมีจิตใจบริสุทธิ์ และมาถามความจริง เราจะเคารพ” หัวข้อเรื่องหม่อมสุจาริณีกับโสมสวลียังคงอยู่นอกขอบเขตของประเด็นสัมภาษณ์ แต่หนังสือดิฉันก็ได้ยกเรื่องที่ในหลวงภูมิพลทรงแสดงท่าทีจะสละราชบัลลังก์ ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ทรงตอบด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด ยืนยันถึงความสูงส่งของพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ไม่ทรงอาจเอือมว่า..“เราไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ และไม่ต้องการรู้เรื่องนี้ เรื่องอะไรก็ตามแต่ที่เกี่ยวกับพ่อเป็นเรื่องที่สูงส่ง สูงกว่าเรา เราเป็นคนรับใช้ของพ่อ และฉะนั้นจะทำตามที่ท่านสั่งให้ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ เรามีกษัตริย์ที่ยึดปฏิบัติทศพิธ ราชธรรมเราควรรู้สึกโชคดีที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินนี้ เราควรพอใจที่ได้อยู่ใกล้แทบเท้าของท่าน”

พลเอกเปรมทุ่มงบประมาณแผ่นดินจัดงานฉลองพระชนมพรรษา 60 ปีถวายพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทั้งโปสเตอร์และป้ายโฆษณาผุดขึ้นทั่วประเทศและไม่ว่าใครจะขยับตัวทำอะไรในปีก่อนหน้าและหลังจากนี้ล้วนแต่ เป็น การ“เฉลิมพระเกียรติ” ไปเกือบหมด หน่วยราชการผลิตหนังสือและสารคดีโทรทัศน์ยืดยาวเชิดชูพระอัจฉริยภาพ การยึดมั่นในทศพิธราชธรรมของพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนความยิ่งใหญ่อันไร้ที่ติของกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี มหาวิทยาลัยต่างๆ จดสัมมนาอภิปราย ออกบทวิเคราะห์ทางวิชาการสดุดีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ สมาชิกของพระราชวงศ์ก็ทรงเข้าร่วมขบวนการเทิดพระเกียรติด้วยเช่นกัน โดยเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเขียนเรื่อง”เจ้านาย”ในปี 2539 เกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ของในหลวงอานันท์กับในหลวงภูมิพล และกองทัพก็เอาไปตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหนา 400 หน้าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความฉลาดปราดเปรื่องของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ ฟ้าหญิงสิรินธรทรงเขียนสรรเสริญสดุดีความมหัศจรรย์ในงานพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือของคณะกรรมการประสานงานโครงการตามพระราชดำริ ว่า “ไม่ว่าพ่อจะผ่านไปทางไหน ในปีถัดมาก็จะเห็นการพัฒนา สุขภาพของประชาชนดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับการบินไทยร่วมมือกันจัดโครงการณ์สนับสนุนการท่องเที่ยวประเทศไทย (Visit Thailand Year) ซึ่งเน้นวาระครบรอบ 60 ชันษาของพระเจ้าอยู่หัวเป็นจุดขายโดยจัดพระราชพิธีเห่เรือในเดือนตุลาคม ความสัมพันธ์ของกองทัพกับวังก็มีการพัฒนายกระดับมากขึ้น ในเดือนมีนาคม 2530 พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่ทหารกรมกองต่างๆ ด้ามธงบรรจุด้วยเส้นพระเกศาของในหลวงภูมิพล กองทัพแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการ