ทุกวันนี้เรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่าถูกปฏิเสธสินเชื่อเพราะติด Black list หรือเครดิตบูโร แล้วจริงหรือที่ข้อมูลที่เก็บในเครดิตบูโรเป็นตัวตัดสินการขอสินเชื่อ วันนี้เราจะมาค้นหากันว่า การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในแต่ละครั้ง สถาบันการเงินใช้ปัจจัยใดบ้างในการพิจารณาก่อนจะอนุมัติหรือปฏิเสธสินเชื่อนั้นๆ อะไรคือตัวชี้วัดว่าเครดิตของผู้ขอสินเชื่อดีเพียงพอสำหรับการให้เงินกู้, เพิ่มวงเงิน หรืออนุมัติบัตรเครดิต
ทุกครั้งในการขอสินเชื่อ สถาบันการเงินจะให้ผู้ขอสินเชื่อกรอกใบสมัครขอสินเชื่อ เอกสารประกอบ และหนังสือยินยอมเพื่อใช้ในการเรียกดูข้อมูลเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ ในเบื้องต้นสถาบันการเงิน มักใช้ข้อมูลจากทั้งใบสมัครขอสินเชื่อของผู้ขอสินเชื่อ จากเอกสารประกอบ และข้อมูลจากเครดิตบูโร เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงประกอบการตัดสินใจว่า ผู้ขอสินเชื่อจะเป็นลูกค้าที่เมื่อรับเงินกู้ไปแล้ว จะมีความสามารถในการจ่ายคืนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสถาบันการเงินเกือบทุกรายมักจะใช้หลัก 6 Cs ในการประเมินเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่ง 6 Cs ที่ว่านี้ประกอบด้วย
1. Character หรือ Credit Reputation คือ คุณลักษณะหรือวินัยในการใช้และการชำระสินเชื่อในอดีต ซึ่งบอกถึงการรักษาสัญญาในการใช้สินเชื่อ การชำระหนี้ตรงเวลาหรือไม่อย่างไร การจัดการกับสินเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีปัญหาสะดุดทางการเงิน ได้ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาได้ดีอย่างไร ซึ่งคุณลักษณะในปัจจัยนี้ก็จะได้มาจากรายงานของเครดิตบูโร
2. Capacity คือ ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้คืน เป็นต้นว่า ผู้ขอสินเชื่อมีงานการที่มั่นคงหรือไม่และมีอายุการทำงานมานานเท่าไรในบริษัทที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รายได้เพียงพอต่อหนี้สินที่มีอยู่หรือไม่ ความสามารถของผู้ขอสินเชื่อที่จะสามารถชำระหนี้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจัยในข้อนี้แสดงถึงความมั่นคงของรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต
3. Capital คือ เงินทุน หรือสินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อที่ใช้เพื่อการประกอบธุรกิจจะให้ความสำคัญในปัจจัยนี้มาก สถาบันการเงินจะพิจารณาเฉพาะเงินทุนหรือสินทรัพย์ของผู้ขอกู้ในขณะที่พิจารณาสินเชื่อนั้นๆ แม้ว่าเงินทุนหรือสินทรัพย์หรือเงินฝากจะไม่ใช่แหล่งของเงินที่สถาบันการเงินคาดหวังว่าจะได้รับการชำระจากแหล่งเงินเหล่านี้ก็ดี แต่แหล่งเงินทุนนี้จะเป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับการชำระหนี้ของผู้กู้ในกรณีที่เกิดปัญหากับรายได้ของผู้กู้ขึ้น
4. Conditions คือ ปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขอื่นที่มีผลกระทบต่อรายได้ เป็นต้นว่าเศรษฐกิจ อาชีพ หรือเงื่อนไขในการกู้ ตัวอย่างเช่น ในสภาวะของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้รายได้สุทธิลดลง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระ ซึ่งสถาบันการเงินก็จะต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ในการพิจารณาสินเชื่อ อาชีพบางอาชีพมีความมั่นคงในรายได้ และการงาน เช่น การรับราชการ การกู้ร่วมก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อเช่นกัน
5. Collateral คือ หลักประกันที่เป็นทรัพย์สินซึ่งผู้กู้จะนำมาจำนำ หรือจำนองเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ก็สามารถนำมาขายทอดตลาดได้ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งการให้สินเชื่อประเภทนี้ก็มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
6. Common Sense คือ ปัจจัยที่สถาบันการเงินใช้ในการพิจารณาสินเชื่อว่า ผู้ขอสินเชื่อจะใช้สินเชื่ออย่างสมเหตุสมผลและจะไม่เป็นการก่อร่างสร้างหนี้จนเกินตัว หรือไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีสินเชื่อที่ขอเพิ่ม อาทิเช่น การมีบัตรเครดิตจำนวนหลายใบ ถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระ หรือการใช้บัตรในแต่ละใบเลยก็ตาม การพิจารณาของสถาบันการเงินอาจมองว่าไม่มีเหตุผลที่จะให้บัตรเครดิตอีกใบเพิ่ม เพราะอาจทำให้สร้างหนี้จนเกินตัว หรือได้ไปก็ไม่ใช้ก็เป็นได้ ดังนั้น หากผู้ขอสินเชื่อมีบัตรเครดิตหลายใบและไม่ได้ใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าว ก็ควรที่จะแจ้งยกเลิกและปิดบัญชีเสีย อย่างนี้จึงจะ Make Sense
ให้กู้หรือไม่ให้กู้?
มาถึงบางอ้อแล้ว คงจะเห็นภาพแล้วว่าสถาบันการเงินให้กู้หรือไม่ให้กู้ด้วยปัจจัยอะไรบ้างเพื่อหาคำตอบเพียงคำตอบเดียวที่ว่า ผู้ขอสินเชื่อจะมีความสามารถชำระเงินกู้ได้หรือไม่ และจะยังมีความสามารถในการชำระแม้จะมีปัญหาสะดุดในบางโอกาส
สุดท้ายนี้ นอกจากรายได้ซึ่งบอกให้เห็นถึงความสามารถในการชำระที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อที่ผู้ขอสินเชื่อซึ่งอาจมีเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตแล้วนั้น ประวัติในการชำระสินเชื่อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงวินัยทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาและสร้างได้เพราะอนาคตในปีนี้จะเป็นอดีตในปีหน้าซึ่งจะเป็นประวัติของเราต่อไปที่ย้อนเวลากลับมาแก้ไขไม่ได้ เราจึงควรทำวันนี้ให้ดีที่สุด
http://thanakrit.visiontni.com/