วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มีหนี้มากเท่าไหร่จึงจะเรียกว่ามีหนี้มากเกินไป

ยามที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำอย่างในปัจจุบัน การก่อหนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิสมัยนักสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ท่านผู้อ่านก็คงไม่อยากก่อหนี้มากดกินตัว จนต้องมีภาระหนี้สินอีนุงตุงนัง ประเด็นก็คือ จะมีหนี้สักเท่าไร


จึงจะเรียกว่าไม่มากเกินไปหรือไม่มากเกินตัว หนี้ประเภทไหนที่น่าจะจัดการด้วยการใช้เครดิตแทนที่จะจ่ายเงินสด



เพื่อช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ถูกต้องในเรื่องการก่อหนี้ส่วนบุคคลหรือ Personal Dept บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าระดับของการผ่อนหนี้บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต และการเรียน ควรอยู่ในอัตราเท่าใด จึงจะเรียกว่าเหมาะสม รวมทั้งจะอธิบายวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการหนี้ส่วนตัวของท่านด้วย



ในโลกแห่งการบริโภคนิยมนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทีเดียวที่คนเราจะดำรงชีวิตในสังคมเมืองโดยไม่มีการก่อหนี้ คนส่วนใหญ่ของสังคมไม่สามารถจ่ายค่าซื้อบ้านเป็นเงินสด หรือซื้อรถด้วยเงินสด จ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลานเป็นเงินสด (ยกเว้นกรณีส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งจะต้องชำระเงินสดในสกุลเงินต่างประเทศ) แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะปล่อยให้มีหนี้สินบานตะไท จนไม่สามารถจัดการได้



ตามหลักของการบริหารการเงินที่ดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าภาระหนี้เที่เป็นระยะยาวต่อเดือน ควรมีไม่เกิน 36 เปอร์เซ็นต์ของรายรับต่อเดือน ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่นายธนาคารจะให้ความสำคัญ เมื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกหนี้



อย่างไรก็ดี หากมองในอีกขั้วหนึ่ง การไม่มีหนี้สินเลยก็ถือเป็นวิธีบริหารการเงินที่ไม่ชาญฉลาดเท่าใดนัก แม้เป็นเรื่องฉุกเฉินก็เถอะ เพราะคุณจะต้องจ่ายเงินสดสำรองของคุณออกไปแทนที่จะใช้เครดิตได้ ความท้าทายตรงนี้อยู่ที่ว่าการเรียนรู้ที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าค่าใช้จ่ายประเภทใดที่ควรจะชำระด้วยการก่อหนี้ และประเภทใดที่ไม่ควร จากนั้นก็บริหารเงินที่คุณกู้ยืมมาให้ถูกต้องเหมาะสม



ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดในเรื่องนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านลองทำแบบสอบถาม 8 ข้อนี้เพื่อที่จะดูว่าท่านมีปัญหาเรื่องการบริหารหนี้ส่วนตัวหรือไม่

1. เงินค่างวดต่างๆ เช่น สินเชื่อบ้านของคุณ รวมเบี้ยประกันด้วยนั้นมากกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำประจำแต่ละเดือนของคุณหรือไม่?

(ก) ใช่ (5 คะแนน)

(ข) ไม่ใช่ (0 คะแนน)



2. เงินค่าผ่อนรถยนต์ของคุณมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิประจำเดือนหรือไม่?

(ก) ใช่ (5 คะแนน)

(ข) ไม่ใช่ (0 คะแนน)



3. เทียบยอดหนี้ในบัตรเครดิตแต่ละใบกับเพดานวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เสร็จแล้วเทียบยอดหนี้รวมของบัตรเครดิตกับเพดานวงเงินรวมที่ได้รับอนุมัติให้ใช้?

(ก) แต่ละบัญชีมียอดหนี้ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (0 คะแนน)

(ข) แต่ละบัญชีมียอดหนี้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (5 คะแนน)

(ค) ยอดหนี้รวมทุกบัตรเครดิตมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเพดานวงเงินที่ได้รับอนุมัติ (15 คะแนน)



4. รวมตัวเลขการจ่ายค่างวดและค่าผ่อนชำระต่างๆ ประจำเดือนทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วหารด้วยรายรับขั้นต้นในแต่ละเดือนของคุณ เพื่อที่จะดูว่าคุณมีหนี้อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นร้อยละเท่าไร?

(ก) น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ (0 คะแนน)

(ข) 30-35 เปอร์เซ็นต์ (5 คะแนน)

(ค) 36-40 เปอร์เซ็นต์ (10 คะแนน)

(ง) มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ (15 คะแนน)



5. คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินในวงเงินที่มีค่าเท่ากับยอดชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือนหรือไม่ ซึ่งต้องรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายของคุณด้วยนะ

(ก) ไม่มี (10 คะแนน)

(ข) มีพอชำระแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น (5 คะแนน)



6. คุณเคยชำระหนี้ล่าช้ากว่าปกติหรือไม่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา?

(ก) เคย (10 คะแนน)

(ข) ไม่เคย (0 คะแนน)



7. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คุณเคยคิดทำรีไฟแนนซ์และคำนวณว่าจะประหยัดเงินได้สักเท่าไร หรือไม่?

(ก) ไม่เคย (10 คะแนน)

(ข.) เคย (0 คะแนน)



8. เคยตรวจสอบรายงานเครดิตของตัวเองหรือไม่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา?

(ก) ไม่เคย (10 คะแนน)

(ข) เคย (0 คะแนน)



คำนวณ

คุณได้คะแนน = (คะแนน)

ถ้าคุณทำแบบสอบถามนี้แล้ว ได้คะแนนต่ำกว่า 10 คะแนน

คุณก็ไม่ต้องอ่านตอนต่อไปของบทความนี้ เพราะคุณสามารถบริหารหนี้ของคุณได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว

แต่ถ้าคะแนนออกมาอยู่ระหว่าง 15-30 คะแนน

ก็ยังถือว่าบริหารหนี้ส่วนตัวได้ดีอยู่ แต่คุณต้องมีความระมัดระวังรอบคอบสักหน่อย?

ส่วนคนที่ได้คะแนนมากกว่า 30 แต้มขึ้นไป



ผมขอแนะนำว่าคุณควรจะอ่านข้อเขียนของผมต่อ เพราะคุณมีแววว่ากำลังเผชิญหน้าปัญหาหนี้แบบแก้ไม่ตกเสียแล้ว โดยทั่วไป การตัดสินใจที่จะก่อหนี้ยืมสินมักไม่ได้มีเหตุมาจากประเด็นที่ว่าคุณมีเงินสดมากน้อยสักเท่าไหร่ แต่จะมาจากเหตุผลที่ว่ามันมีลู่ทางอะไรไหมที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาได้อีกบ้าง ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากขนาดนี้ คุณลองคำนวณเล่นๆ ดูซิว่าคุณมีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเงินกู้สักเท่าไร เทียบกับว่าคุณจะได้ดอกผลเท่าไร หากเอาเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปลงทุนถ้าคุณคิดว่าสามารถสร้างผลตอบแทนจากการนำเงินสดของคุณเองไปลงทุนให้งอกเงยขึ้นมามากกว่าที่คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยละก็ กู้มาลงทุนดูจะคุ้มกว่านะ



ต่อไปนี้คือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากการมีหนี้ส่วนตัว



หนี้สินรวม

ผู้ปล่อยกู้โดยทั่วไปมักจะมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อโดยไม่ให้ลูกหนี้ต้องมีภาระการส่งค่างวดมากเกินกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต้น และภาระการชำระหนี้ต่อเดือนก็ต้องไม่ให้เกินกว่าอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิ อย่างไรก็ดี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเป็นประวัติการณ์อย่างในเวลานี้ ผู้ให้กู้ก็ยอมที่จะปล่อยวงเงิน ซึ่งก็ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้รวมอยู่ระหว่าง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่คำถามใหญ่ก็คือ คุณยินดีที่จะก่อหนี้มากขนาดนั้นหรือไม่? วิธีที่จะมองว่าคุณควรจะมีหนี้สักเท่าใด ก็คือ พิจารณาการบริหารรายได้ของคุณ (ดูกราฟวงกลม)

หากคุณจ่ายค่าภาษีเงินได้ 28 เปอร์เซ็นต์ คุณก็มีเงินออมในระดับที่แข็งแรงพอ คือ 15 เปอร์เซ็นต์ และคุณมีการผ่อนชำระรายเดือนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น คุณก็จะมีเงินติดมือสำหรับจับจ่ายใช้สอยในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คุณคิดว่านี่เป็นการแบ่งสันปันส่วนที่ทำให้คุณดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่

ขอบอกตามตรงว่า โดยหลักการที่เป็นที่ยึดถือกันโดยทั่วไปแล้ว ภาระหนี้ที่มีมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต้นของแต่ละเดือน ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณกำลังเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตในการบริหารเงินแล้ว



ผ่อนหนี้บ้าน

การที่คนเราจะจ่ายเงินค่าซื้อบ้านเป็นเงินสดนั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้หรือมีโอกาสน้อยมาก เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นมหาเศรษฐี ดังนั้นเมื่อคุณจะไปขอสินเชื่อซื้อบ้าน มันก็มีเหตุผลอยู่ หากคุณต้องการวางเงินดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่ว่าคุณจะได้จ่ายดอกเบี้ยน้อย แต่การทำแบบนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป

คุณควรจะพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น คุณจำเป็นต้องมีการสำรองเงินสดไว้เท่าไร หรือเงินที่คุณเอาไปลงทุนไว้ได้ดอกผลเท่าไร แม้โดยทั่วไป สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ และคุณยังเอาไปคำนวณลดภาษีได้ด้วย แต่การเอาเงินสดทั้งหมดไปวางดาวน์บ้านก็ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ฉลาดนัก และคุณก็ยังมีภาระหนี้ด้านอื่นๆ อีก

อัตราการวางเงินดาวน์ที่เหมาะสมอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของราคาบ้าน และก็ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปของการขอสินเชื่อซื้อบ้านด้วย



เงินกู้เพื่อการศึกษา

เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลานในระดับอุดมศึกษา การอนุญาตให้พวกเขากู้เงินมาเรียนก็เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ น่าจะดีกว่าที่คุณต้องขายสินทรัพย์หรือกู้จากการกองทุนบำนาญของคุณ

เหตุผลที่น่าจะทำอย่างนั้นก็คือ มีแหล่งเงินกู้เพื่อให้คุณเอาเงินไปใช้ยามเกษียณอายุเป็นแน่ จริงๆ แล้ว วิธีจัดการที่ดีที่สุดก็คือ การเก็บหอมรอมริบให้ได้มากที่สุด เพื่อเอาไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาให้ลูก เก็บได้เท่าไรก็เท่านั้น ส่วนที่ขาดก็ให้ลูกๆ ไปกู้ยืมเอาได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีเงินกู้ สำหรับนักเรียนนักศึกษา หรือมีทุนการศึกษา

โดยทั่วไป ผู้กู้ที่เป็นนักศึกษาสามารถส่งค่างวดได้ในอัตรา 12 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่หากคุณเป็นผู้ปกครอง จะต้องกู้เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนลูกเท่าไร เป็นเรื่องยากที่จะบอกอัตราส่วนได้ชัดเจน มันเป็นเรื่องที่จะบอกอัตราส่วนได้ชัดเจน มันเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้เกิดสมดุล แต่หลักใหญ่ใจความก็อยู่ที่ว่าคุณต้องชำระหนี้เงินกู้ประเภทนี้ให้หมดก่อนที่คุณจะถึงเวลาเกษียณอายุ



สินเชื่อรถยนต์

วิธีที่จะทำไฟแนนซ์รถยนต์ให้ดีที่สุดก็คือ คุณต้องคิดก่อนว่าจะใช้รถนานกี่ปี เพราะราคารถยนต์จะร่วงลงในทันทีที่คุณถอยมันออกจากโชว์รูม และคุณก็ต้องดูด้วยว่าคุณมีเงินสดอยู่ในมือเท่าไร ถ้าคุณสามารถจ่ายเงินซื้อรถได้หมดในคราวเดียว มันก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำ หากคุณคิดว่าจะเก็บรถคันนี้ไว้เป็นเวลานาน หรือเก็บไว้นานกว่าช่วงเวลาที่ต้องจ่ายเงินค่าผ่อนรถ พูดง่ายๆ ก็คือนานกว่า 5 ปี นอกจากนี้ หากคุณเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนน้อยกว่าจำนวนเงินที่คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยผ่อนรถ มันก็เป็นการฉลาดที่คุณจะเอาเงินสดก้อนนี้ไปจ่ายให้หมดในคราวเดียวเพื่อซื้อรถยนต์ ปัจจัยอีกอย่างที่สนับสนุนให้คุณเลือกวิธีจ่ายค่าซื้อรถหมดในคราวเดียวคือ สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก (เพราะการที่จะเอาเงินก้อนจำนวนนี้ไปแสวงหาผลตอบแทนอัตราสูงๆ คงเป็นเรื่องทำได้ยาก)

อย่างไรก็ดี คนส่วนมากไม่สามารถซื้อรถยนต์ใหม่โดยจ่ายเงินสดในคราวเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ วางเงินดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปเบียดบังค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ หรือในส่วนที่เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน โดยทั่วไปคุณต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ

การทำไฟแนนซ์รถยนต์เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคุณจะขับรถใหม่คันนี้ไปอีกนาน แม้คุณจะจ่ายค่างวดหมดแล้วก็ตาม

หากคุณไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อเอามาซื้อรถยนต์ใหม่ ธนาคารจะให้วงเงินสินเชื่อคุณมากกว่าที่คุณจำเป็นต้องใช้ คุณอาจต้องจ่ายค่าผ่อนรถประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต้น แต่คนซื้อรถใหม่ที่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว และยังมีรายได้ต่ำอยู่ อาจต้องการเงินกู้มากสักหน่อยเพื่อซื้อรถใหม่ แต่นั่นก็เป็นการทำตามใจตัวเองมากไปสักหน่อย อย่าลืมว่ารถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมค่าลงตลอดเวลา

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมขอบอกว่า คุณควรจ่ายค่าผ่อนรถในอัตราไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิ ตราบใดที่คุณไม่มีภาระหนี้สินก้อนใหญ่อื่นๆ นอกเหนือจากค่าผ่อนรถคันใหม่นี้

ดอกเบี้ยผ่อนรถ 0 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจมาก แต่คุณต้องดูให้ดีๆ นะครับ เพราะสินเชื่อประเภทนี้มักจะใช้แทนส่วนลดเงินสด ดังนั้น ก่อนที่คุณจะรีบรับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่น่าจูงใจนี้ ควรคิดคำนวณให้ดีว่ามันจะเป็นการประหยัดกว่าหรือเปล่า หากคุณใช้เงินกุ้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แล้วเปลี่ยนส่วนลดเงินสดนั้นมาเป็นเงินวางดาวน์แทน



สินเชื่อบัตรเครดิต

ในประเด็นที่เป็นเรื่องของการชำระหนี้บัตรเครดิต คุณควรตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำให้ตัวเลขหนี้เป็นศูนย์ แน่นอนว่าการชำระหนี้บัตรเครดิตให้หมดไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แม้แต่คนที่มีรายได้สูงๆ ก็ตามเถอะ หนี้บัตรเครดิตอาจกลายเป็นปีศาจที่คอยหลอกหลอน เช่น มันอาจจะมาจากรายการค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ไม่คาดหมาย เป็นต้น แต่ในทางทฤษฎีแล้ว คุณควรจะมีเงินเก็บก้อนหนึ่งเพื่อเอาไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะ

คุณไม่ควรจะมียอดหนี้ในบัญชีบัตรเครดิตเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินของคุณ และถ้าหากว่าคุณใช้บัตรเครดิตจนใกล้จะเต็มวงเงินแล้ว คุณอาจต้องไม่ทำตามกฏระเบียบในการชำระหนี้บัตรเครดิตชั่วคราว คือ ชำระหนี้บัตรที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องชำระบัตรที่ใช้จำนวนเงินใกล้จะเต็มเสียก่อน

ข้อพึงระมัดระวังอีกอย่างในการใช้บัตรเครดิตคือ อย่าเข้าไปติดกับวงเงินขั้นต่ำที่คุณต้องชำระ ถ้าคุณเลือกชำระแต่วงเงินขั้นต่ำ คุณจะจ่ายได้แค่หนี้ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ได้แตะเงินต้นเลย ณ เพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเครดิตที่ 18 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน คุณต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะชำระหนี้บัตรเครดิตหมด และยังมีแนวโน้มด้วยว่าคุณจะต้องจ่ายมากกว่าวงเงินที่คุณใช้ไปจริงๆ



หลุดออกจากการเป็นหนี้

หลักการพื้นฐานที่จะทำให้ภาระหนี้ลดลงนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ว่ายากแสนยากในการปฏิบัติ ข้อแรกเลยก็คือ ต้องลดรายการจ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นทั้งหลายแหล่ลง แล้วก็เอาเงินส่วนเกินนั้นไปจ่ายหนี้ซะ เมื่อคุณตกลงใจได้แล้วว่าจะใช้เงินจ่ายหนี้ให้มากที่สุดได้เท่าไรในแต่ละเดือน ให้คุณใช้เงินส่วนมากจ่ายหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ซึ่ปกติก็จะเป็นรายจ่ายหนี้บัตรเครดิต แล้วค่อยใช้เงินส่วนน้อยจ่ายบิลที่ยังพอจะหมุนเงินต่อได้

เมื่อคุณกำจัดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดไปแล้ว (คือจ่ายหนี้ดอกเบี้ยแพงที่สุดหมดแล้ว) ก็เอาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยแพงรองลงมาเป็นลำดับถัดไป คุณอาจพิจารณาโยกย้ายบัญชีบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยแพงๆ ไปหาบัตรที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ต้องอ่านสัญญาให้รอบคอบถี่ถ้วน บางทีข้อเสนอดอกเบี้ยต่ำมีผลเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ผู้อ่านบางท่านอาจใช้วิธีกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาจ่ายหนี้บัตรเครดิต แต่การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าแนะนำ เพราะหากคุณออกจากงาน คุณอาจต้องจ่ายหนี้เงินกู้ก้อนนี้ภายในเวลา 3 เดือนหรือในทันทีก็เป็นไปได้



สำหรับคนส่วนมาก การลดการจับจ่ายใช้สอยสัก 2-3 เดือน จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินได้มากทีเดียว แต่ถ้ามันยังไม่พอละก็ ควรพยายามลดค่าใช้จ่ายประจำลง เช่น ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ทำรีไฟแนนซ์รถยนต์เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และเมื่อคุณสามารถชำระหนี้บัตรเครดิตได้หมด คุณต้องระมัดระวังไม่ก่อหนี้บัตรเครดิตมากจนเกินเลยอีก เพราะคุณยังมีเงินค่างวดก้อนใหญ่ต้องชำระอีก



http://thanakrit.visiontni.com/