วัดศรีรัตนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันทั่วไปว่า ?วัดบางพัง? ตั้งอยู่ เลขที่ 39 บ้านคลองบางพัง ซอยสวัสดี หมู่ที่ 2 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดโบราณสร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2305
พระผงหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จ.นนทบุรี ปี2484
ไม่ทราบนามผู้สร้าง ชาวบ้านนิยมเรียกขานนามวัดว่า ?วัดบางพัง? ตามนามท้องที่ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี สาเหตุที่ชื่อวัดบางพัง ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่งแถบบริเวณนั้นพังเข้ามามากเป็นบริเวณกว้างมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้เรียกกันว่าตลิ่งพังแล้วและกลายมาเป็นบางพังในที่สุด วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีทางรถยนต์ตัดเข้าถึงวัดทำให้การคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวก
เจ้าอาวาสเท่าที่สืบทราบได้จำนวน 4 รูป คือ
รูปที่ 1 พระอธิการเริญ
รูปที่ 2 หลวงพ่อแฉ่ง ศิลปัญญา
รูปที่ 3 พระอธิการประมวล ปวัฑฒโน
รูปที่ 4 พระอธิการอินทร์ อกตมโล เจ้าอาวาสปัจจุบัน (ปี31)
หลวงพ่อแฉ่งท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีอาคมขลัง มีพลังทางจิตแก่กล้า เป็นพระปฏิบัติเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐานในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นศิษย์หลายสายหลายสำนักด้วยกัน และเป็นศิษย์ในหลวงพ่อปานวัดบางนมโค จ.อยุธยาด้วย (ได้รับอิทธิพลพระพิมพ์ทรงสัตว์จากหลวงพ่อปาน) ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้จึงทำให้วัดบางพังในอดีตคึกคัก มีผู้คนเดินทางมาจากถิ่นใกล้และไกล มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับหลวงพ่อแฉ่งเป็นอันมาก บางคนก็มาขอวัตถุมงคล บางคนก็มารักษาโรค บางคนก็มาปรึกษาความและเรื่องราวร้อยแปด เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าหลวงพ่อท่านช่วยได้ ผู้ที่ไปขอเรียนคาถาอาคม หลวงพ่อท่านจะให้ฝึกจิตบังคับใจเรื่องสมถวิปัสนากรรมฐานก่อน เมื่อเห็นว่าพอจะใช้ได้ไปไหว จึงจะให้นิสัยธรรมข้อหนึ่งที่หลวงพ่อมักจะอบรมสั่งสอน (เข้าใจว่าคุณธรรม) หลังจากนั้นจึงจะบอกตัวคาถาและเคล็ดวิชาต่าง ๆ ให้ การเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่อนั้น ท่านมิใช่แต่เพียงให้ศิษย์เรียนผูกเท่านั้น ท่านยังให้ศิษย์เรียนแก้ด้วย ครบถ้วนกระบวนการ คือ เพื่อป้องกันแก้ไขคนที่มีทุกข์ถูกของถูกคุณให้พ้นภัย เป็นต้น
หลวงพ่อแฉ่ง มรณะภาพราว ปี2502 ศพของท่าน สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม โปรดให้นำมาฌาปณกิจที่วัดมกุฎฯ และในงานศพของหลวงพ่อแฉ่งก็ได้แจกเหรียญรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเป็นของที่ระลึกด้วย
การสร้างวัตถุมงคล หลวงพ่อแฉ่งท่านสร้างวัตถุมงคลไว้หลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน มีทั้งพระเนื้อผง พระเนื้อดินเป็นรูปพระรอดองค์เล็ก ๆ, ตะกรุด, ผ้ายันต์ธง และทรายเสก เป็นต้น แต่ในตอนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะพระเนื้อผงเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป มูลเหตุในการจัดสร้าง บรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดที่ศรัทธาในจริยวัตรของหลวงพ่อพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุ เพื่อเป็นของที่ระลึก และคุ้มครองป้องกันตน ประกอบกับในระยะนั้นมีเค้าของสงครามจะปะทุระเบิดขึ้น ผู้คนเริ่มเสาะแสวงหาวัตถุมงคลเอาไว้คุ้มกันตัว และเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างถาวรวัตถุสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด
หลวงพ่อแฉ่งได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นในปี พ.ศ.2484 แจกให้ศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธามาขอพระจากท่านเพื่อนำไปคุ้มครองป้องกันตัว จำนวนในการจัดสร้าง วัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างขึ้นมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ เพราะมิได้มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการทยอยสร้างทยอยปลุกเสก กล่าวคือพอสร้างได้จำนวนมากพอสมควรแล้วท่านก็จะทำพิธีปลุกเสกเสียคราวหนึ่ง เป็นการปลุกเสกเดี่ยว จากนั้นจึงนำมาแจกเสียคราวหนึ่ง จำนวนพระทั้งหมดที่สร้าง หลายท่านยืนยันว่าไม่ถึง 84,000 องค์ สันนิษฐานกันว่าประมาณหนึ่งหมื่นองค์เศษ ๆ เห็นจะได้ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้น แจกฟรี ไม่มีการเช่าบูชาเหมือนปัจจุบัน ส่วนใครจะศรัทธาบริจาคทรัพย์ทำบุญให้วัดจำนวนเท่าไหร่ เป็นเรื่องของศรัทธาและกำลังทรัพย์ของแต่ละท่าน พระหลวงพ่อแฉ่งใช้ดีด้านไหน วัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสกนั้น มีประสบการณ์เป็นที่โจษขานไปทั่วตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ ด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ทางด้านเมตตามหานิยมก็ไม่เบาเช่นกันนอกจากนี้ยังใช้เป็นพระหมอแบบพระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคได้อีกด้วย
ลักษณะและสีของเนื้อพระ พระเนื้อผงที่หลวงพ่อแฉ่งสร้างขึ้นเป็นเนื้อประเภทปูนปั้นไม่ได้เผาไฟ ส่วนผสมหลักคือปูนขาวจากเปลือกหอยและน้ำมันตังอิ๊ว นอกนั้นก็เป็นผงวิเศษ 5 ประการ คือ ผงอิทธิเจ ผงปถะมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห นอกนั้นก็มีเกสรดอกไม้ที่ชื่อเป็นมงคลนาม ทรายเสก และข้าวสุก เป็นต้น การโขลกตำเนื้อพระและส่วนผสมตลอดจนการกรองผงมีความประณีตบรรจงมาก เนื้อละเอียดเนียนเข้ากันสนิท การแยกพิมพ์ทรง พระเนื้อผงที่หลวงพ่อสร้างมีกี่แบบกี่พิมพ์ไม่มีใครตอบได้ ทางวัดก็ไม่มีเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน ส่วนใหญ่ก็รู้เท่าที่ตัวเองมีอยู่ และหนังสือลงข้อมูลกันไว้ หากจะแยกย่อยออกไปจริง ๆ น่าจะมีมากกว่า 30 พิมพ์ แม้ว่าพิมพ์หลัก ๆ จะมีอยู่ประมาณ 10 พิมพ์ แต่ในพิมพ์หลัก ๆ นั้นก็ยังแยกย่อยออกไปอีก ยกตัวอย่างเช่น พิมพ์สามเหลี่ยมทรงหงส์ พิมพ์สมเด็จสามชั้น พิมพ์สมเด็จทรงหนุมาน พิมพ์สมเด็จทรงหงส์ เป็นต้น ปัจจุบันเข้าสนามว่าหาของแท้ของท่านยากแล้ว ให้แท้และสวยยิ่งยากเป็นเท่า ๆ ตัว