เมนูพิเศษ สำหรับหนูน้อยวัย 6_8 เดือน
(0) (0) (220)
เรื่อง "อาหารการกิน" เป็นสิ่งที่คุณแม่ที่มีลูกวัยแรกเกิดจนถึง 1 ปี คงจะกังวลและใส่ใจกันอยู่ไม่น้อย ว่าจะให้ลูกรับประทานอาหารประเภทไหนถึงจะเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูก นอกจากนมแม่ที่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก คุณประโยชน์ที่ได้จากน้ำนมของแม่มีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก และมีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีนที่ย่อยง่าย ทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที อีกทั้งยังได้เชื่อมสายสัมพันธ์จากอกแม่สู่ลูก ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี
แต่อย่างไรก็ตาม เด็กทารกยังต้องการสารอาหารประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการทางด้านสมอง ซึ่งจะมีผลต่อระดับสติปัญญาในอนาคต วันนี้มีเมนูพิเศษและมีประโยชน์กับลูกน้อย จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาแนะนำให้คุณแม่ได้เตรียมอาหารมื้ออร่อยให้ลูกกันคะ
สำหรับเด็กทารกที่อยู่ในช่วงอายุ 6-8 เดือน ระยะนี้ทารกจะแสดงความสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยพยายามสัมผัสและทำกิจกรรมกับวัตถุ เช่น เคาะ เขย่า หรือเอาเข้าปาก การไขว่คว้าสิ่งของเป็นไปในลักษณะที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ก่อน คือ จะคว้าเมื่อเห็นหรือพบสิ่งที่สะดุดตาโดยบังเอิญ ระยะนี้ทารกยังไม่สามารถเชื่อมระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้ดีเท่าใดนัก ซึ่งเห็นได้จากการที่ทารกยังไม่สามารถติดตามมองหาวัตถุที่หายไป แต่จะเริ่มมองตามสิ่งของที่ตกหรือหล่นจากมือไปได้ ทั้งนี้พัฒนาการด้านสติปัญญาจะส่งผลเกี่ยวข้องกับสังคม สามารถจำหน้าบุคคลใกล้ชิด และแสดงอาการแปลกหน้าเมื่อเจอกับคนที่ไม่คุ้นเคย
ดังนั้น การเลือกอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกวัยนี้ นอกจากนมแม่แล้วทารกควรได้รับโภชนาการด้านอื่นๆ ผ่านอาหารหลัก 1-2 มื้อในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
ขั้นตอนแรก คือการเตรียมคาร์โบไฮเดรต โดยการนำข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว (1 ช้อนโต๊ะหรือ 3 ช้อนชา) ต้มกับแกงจืดหรือน้ำซุปประมาณครึ่งถ้วยตวง หรือใช้ข้าวตุ๋นข้นปานกลาง 4 ช้อนกินข้าว ผสมกับน้ำแกงจืดหรือซุป 8 ช้อนกินข้าว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลายข้าว 1 ช้อนกินข้าว ต้มกับน้ำแกงจืดหรือน้ำซุปประมาณ 10 เท่า ซึ่งจะเหลือปริมาณ 4 ใน 5 ส่วนเมื่อเสร็จแล้ว
ขั้นตอนต่อมา คือการเพิ่มคุณค่าทางอาหาร โดยการใส่ผักใบเขียว เหลือง หรือส้มที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย กลิ่นไม่ฉุน 1-2 ช้อนกินข้าว ผสมกับอาหารที่มีโปรตีนเข้มข้น แต่อ่อนนุ่มบดง่าย เช่น ไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้อ่อน และปลา หมุนเวียนสลับกันไป นอกจากนี้คุณแม่ควรเหยาะน้ำมันพืช ประมาณครึ่งช้อนชาในอาหารที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันและเพิ่มความเข้มข้นของพลังงานที่จะได้รับ
วันนี้จึงขอแนะนำ สูตรอาหารน่าหม่ำที่คัดสรรมาเพื่อเด็กทารกวัย 6-8 เดือน ให้บรรดาคุณแม่ได้เลือกไปลองทำกันที่บ้านกับ 3 เมนูนี้คะ
เมนูข้าวบดไข่แดง-ตำลึง
***ข้าวบดไข่แดง-ตำลึง
มีส่วนประกอบ (ต่อ 1 มื้อ) ที่สำคัญ คือ
- ข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
- ไข่แดงต้มสุก (บดละเอียด) ½ ฟอง
- ตำลึงต้มสุก (บดละเอียด) 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
อาหารจานนี้ให้พลังงานทั้งหมด 106 กิโลแคลอรี และจะได้โปรตีน 3.1 กรัม โดยความเข้มข้นของพลังงานอยู่ที่ 0.8 กิโลแคลอรี/กรัม และสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับจาก คาร์โบไฮเดรต : ไขมัน : โปรตีน เท่ากับ 48 : 41 : 11
เมนูข้าวบดตับไก่-เต้าหู้
***ข้าวบด ตับไก่-เต้าหู้
มีส่วนประกอบ (ต่อ 1 มื้อ) ที่สำคัญ คือ
- ข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
- ตับไก่ต้มสุก (บดละเอียด) ¼ ช้อนกินข้าว
- เต้าหู้หลอดไข่ไก่ต้มสุก 2 ช้อนกินข้าว
- ผักหวาน ต้มสุก (บดหรือหั่นละเอียด) 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
อาหารจานนี้ให้พลังงานทั้งหมด 106 กิโลแคลอรี และจะได้โปรตีน 4.0 กรัม โดยความเข้มข้นของพลังงานอยู่ที่ 0.66 กิโลแคลอรี/กรัม และสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับจาก คาร์โบไฮเดรต : ไขมัน : โปรตีน เท่ากับ 52 : 33 : 15
เมนูข้าวบดปลาทู-ฟักทอง
***ข้าวบดปลาทู-ฟักทอง
มีส่วนประกอบ (ต่อ 1 มื้อ) ที่สำคัญ คือ
- ข้าวสวย 4 ช้อนกินข้าว
- น้ำแกงจืด 10 ช้อนกินข้าว
- เนื้อปลาทูนึ่งทอด 1 ½ ช้อนกินข้าว
- ฟักทองต้มสุก (บดหรือหั่นละเอียด) 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
อาหารจานนี้ให้พลังงานทั้งหมด 122 กิโลแคลอรี โปรตีน 5.6 กรัม โดยความเข้มข้นของพลังงานอยู่ที่ 0.84 กิโลแคลอรี/กรัม และสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับจาก คาร์โบไฮเดรต : ไขมัน : โปรตีน เท่ากับ 47 : 35 : 18